เลขาธิการ ปปง. นำแถลงผลอายัดทรัพย์คดีดัง เผย ยึดบ้าน 2 พริตตี้ เมื่อเช้า มูลค่า 15 ล้านบาท รวมยึดทรัพย์เครือข่าย “บรรยิน” แล้ว 31 ล้านบาท ส่วนคดีธรรมกายอายัดเงิน 4 บัญชี ในเครือข่ายธัมมชโยแล้ว 50 ล้านบาท ขณะที่่คดีคลองด่าน อายัดทรัพย์กลุ่มผู้รับเหมาเพิ่มอีก 100 กว่าล้าน เหลือต้องตามอีก 2.5 หมื่นล้าน ด้านคดีเครือข่ายทรานลี่ ยึดแล้ว 216 รายการ ความเสียหาย 1,200 ล้านบาท ส่วนเครือข่ายยาเสพติดบุกยึดเมื่อเช้า 230 ล้านบาท
วันนี้ (30 ก.ค.) เวลา 15.00 น. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืช รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย สำนักงาน ปปง. ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินงานในคดีสำคัญที่บูรณาการร่วมกันทำงาน 5 คดี
พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า คดีแรก ปปง. ได้รับแจ้งจาก บช.ก. ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งทาง ปปง. ตรวจสอบพบว่า มีผู้ต้องหาร่วมกระทำผิดหลายราย จึงดำเนินการอายัดทรัพย์สินในเครือข่าย พ.ต.ท.บรรยิน อาทิ รถยนต์ปอร์เช่ ราคาประมาณ 6 ล้านบาท และ หุ้นบริษัท WIN มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท
“และล่าสุด เมื่อเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจค้นบ้านของ น.ส.กัญฐณา หรือ น้ำตาล ศิวาธนพล และ น.ส.อุรชา หรือ ป้อนข้าว วชิรกุลฑล พร้อมยึดอายัดทรัพย์ 3 รายการ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 แปลงของบ้านทั้ง 2 หลัง รวมมูลค่า 15 ล้านบาท โดยรวมมูลค่าการยึดทรัพย์สินยึดและอายัดในคดีนี้ประมาณ 31 ล้านบาท” พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าว
พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวอีกว่า คดีที่สอง วัดพระธรรมกาย นั้น ดีเอสไอ ดำเนินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินบ้างแล้ว ซึ่งในส่วน ปปง. จะดำเนินการทางแพ่งเรื่องการยึดอายัดทรัพย์และดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว เป็นเงินสดกว่า 50 ล้านบาท ใน 4 บัญชี ของเครือข่าย พระธัมมชโย ทั้งนี้ หากมีส่วนใดเชื่อมโยงเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน ปปง. จำต้องทำการยึดอายัดทรัพย์ต่อไป
พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวต่อว่า คดี พระธัมมชโย ได้ไล่ตรวจสอบมาตั้งแต่ คดีสหกรณ์ฯคลองจั่น ซึ่งจริงแล้ว ปปง. มาดำเนินการช่วงหลัง ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหา พระธัมมชโย และเครือข่าย ฐานฟอกเงิน โดย ปปง. เข้าเกี่ยวข้องในส่วนนี้ รวมทั้งได้ตรวจสอบบัญชีเพื่อหาความเชื่อมโยง ว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องใครบ้างต่อไป ส่วนที่ดินทาง ตร. ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีอาญา ถ้าเกี่ยวโยงกับ ปปง. ก็ยินดีร่วมทำงาน
พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวเพิ่มว่า คดีสาม ทัวร์ศูนย์เหรียญ (บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด) ทาง ปปง. ได้รับการประสานจากตำรวจท่องเที่ยว ในการตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวด้อยคุณภาพ สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศในเขตพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งต่อมามีการแจ้งข้อหา อั้งยี่ กับผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินในเครือข่ายของ บริษัท ทรานลี่ กับพวก จำนวน 216 รายการ ได้แก่ รถบัส 116 คัน เรือนำเที่ยว 35 ลำ บัญชีธนาคาร 53 บัญชี ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใน จ.ภูเก็ต 3 แปลง และ ในพื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา 7 แปลง รวมทั้ง รถบัส 1 คัน และเรือนำเที่ยวอีก 1 ลำ โดยรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 1,200 ล้านบาท
ด้าน นายวิทยา กล่าวว่า สำหรับคดีคลองด่าน หลังจากสำนักงาน ปปง. ได้รับคำพิพากษาศาลอาญา กรณีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กับพวก ร่วมกันทุจริตกับกิจการร่วมค้า NVPSKG และเอกชนรายอื่น เอื้อประโยชน์เป็นขั้นตอน จนได้สัญญาและค่าก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ทำให้รัฐเสียงบประมาณกว่า 20,000 บาท และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีก 9,600 ล้านบาท อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ปปง. ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานธุรกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีการกระทำผิดจริงและดำเนินการอายัดเงินงวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละประมาณ 3,200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,400 ล้านบาท
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ต่อมา ปปง. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับทาง ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับ 6 บริษัท และ 1 บุคคล ที่ได้รับเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในงวดที่ 1 เนื่องจากเป็นเงินที่ได้ไปจากการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต และ ได้อายัดเงินในบัญชีของ NVPSKG มูลค่ากว่า 97 ล้านบาท พร้อมดอกผลอีก 8 หมื่นบาท ซึ่งล่าสุดวันนี้ได้มีการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 3 รายการ ได้แก่ บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำนวน 2 รายการ มูลค่า 70 ล้านบาท และ บัญชีบริษัท ประยูรวิศว์ฯ จำนวน 1 รายการ มูลค่า 30 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 100 ล้านบาท
“นอกจากนี้ ปปง. ตรวจสอบพบว่า การโอนเงินครั้งที่ 1 ส่งต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ อีกกว่า 10 ราย จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยสรุปคดีนี้มีความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ติดตามมาได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท และเหลืออีกกว่า 25,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการต่อไป” นายวิทยา กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.ดาวลอย เปิดเผยว่า คดีสุดท้าย คดีเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ สืบเนื่องจากตำรวจรถไฟจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 156,000 บาท และยาไอซ์ 6 กิโลกรัม ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนขยายผลจับกุมเครือข่ายได้อีกหลายราย พร้อมยึดเงินที่ผิดกฎหมายกว่า 20 ล้านบาท ต่อมา ปปง. ได้ร้องทุกข์ที่ บก.ป. เพื่อดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินและออกหมายจับ น.ส.อโณทัย ฉัตรวรางค์กุล, นายอุง ทู สัญชาติพม่า, นายอานนท์ โกญจนบุญ และ นางมณีรัตน์ เติมทรัพย์สาร พร้อมได้ตรวจยึดค้นบ้าน 3 หลัง ที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด พร้อมอายัดทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 230 ล้านบาท
“นอกจากนี้ ยาเสพติดดังกล่าวถูกลำเลียง มาจากเครือข่ายใหญ่ทางภาคเหนือ และเกี่ยวข้องกับขบวนค้ายาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการลำเลียงโดยเน้นผ่านบริษัทขนส่งทั่วประเทศ และพบว่า มีบริษัทขนส่งเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก มีส่วนรู้เห็น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับ 3 บริษัท”