MGR Online - โฆษกศาลยุติธรรมเผย วันที่ 1 ต.ค.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบฟัน เจ้าหน้าที่โกงฉ้อราษฎร์บังหลวงและเปิดที่ทำการบริเวณศรีย่าน ถ.สามเสน
วันนี้( 22 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม และนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมแถลงการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลางว่า ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบ พ.ศ. .แล้ว เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลยุติธรรมจะดำเนินการจัดตั้งและเปิดที่ทำการศาลอาญาคดีทุจริตฯ แห่งแรกที่บริเวณศรีย่าน ถ.สามเสน ในวันที่ 1 ต.ค.2559 ในเบื้องต้นจะมีองค์คณะผู้พิพากษา 10 องค์คณะ และมีอธิบดี 1 คน รองอธิบดีอีก 3 คน มีอำนาจพิจารณาคดีที่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับความผิดชอบเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทคดีไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือประชาชนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันให้สินบน หรือเป็นคนกลางเสนอให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งคดีที่ฟ้องก่อนวันที่ 1 ต.ค.2559 เช่น คดีทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในศาลอาญากว่า 40 คดี และคดีที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร ซึ่งศาลจังหวัดได้ประทับรับฟ้องไว้ก่อนแล้วจะไม่ถูกโอนไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ และศาลจะรับพิจารณาคดีเฉพาะคดีที่ยื่นฟ้องในวันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป โดยดำเนินวิธีพิจารณาความระบบไต่สวน
นายชาญณรงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่ได้จัดตั้งศาลแห่งนี้เป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาโดยที่ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นศาลชำนัญพิเศษ หรือศาลพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาคดีอาญาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐสมควรมีการปฏิรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดหรือประชาชนเป็นโจทก์ ที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ ซึ่งมีคดีอยู่ 3 กลุ่มที่อยู่ในอำนาจศาลแห่งนี้ คือ 1.คดีอาญาทั่วไปที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาเป็นจำเลย ศาลมีอำนาจพิจารณาไปถึงการริบทรัพย์สินที่ได้มาซึ่งการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดด้วย เช่น คดีที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงหลอกลวงวิ่งเต้นว่าจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน จะไม่ถือว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ 2 เป็นคดีทางแพ่งที่พนักงานอัยการ โดยคำร้องของป.ป.ช.ขอให้ยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายป.ป.ช., คดีความผิดฐานฟอกเงิน คดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้ว), คดีเกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ, คดีเกี่ยวกับการขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่, คดีร่ำรวยผิดปกติ และ 3.คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอทางป.ป.ช.แก้กฎหมายก่อน จึงจะนำมาฟ้องที่ศาลอาญาทุจริตฯ ได้ นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการพิจารณาจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังให้ตั้งศาลอาญาทุจริตภาค ตามที่ระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใกล้วันลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.นี้ ผู้พิพากษาสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายได้หรือไม่
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่เป็นความแสดงความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวกับองค์กรก็สามารถทำได้ สำหรับผู้พิพากษานั้นมีประมวลจริยธรรมควบคุมอยู่แล้ว และผู้พิพากษาทราบดีว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)