MGR Online - “ดีเอสไอ” แถลงข่าวยันจากพยานหลักฐานพบรถจดประกอบยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น 300 บี ของ “สมเด็จช่วง” และรถยนต์โบราณยี่ห้อ PANTHER ของ “หลวงพี่น้ำฝน” นำเข้าผิดกฎหมาย มีความผิดฐานเลี่ยงภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ศุลการกร พร้อมยันการสอบสวนในคดีนี้และคดีอื่นใช้มาตรฐานเดียวกัน
วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นายนิธิต ภูริคุปต์ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผบ.สำนักคดีภาษีอากร และนายมเหสักข์ พันธ์สง่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ร่วมแถลงข่าวการครอบครองรถยนต์จดประกอบของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
พ.ต.อ.ไพสิฐเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการขยายผลคดีไฟไหม้รถหรู 6 คัน ที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2556 เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนทราบว่ามีรถผิดกฎหมายจากการจดประกอบ โดยมีรถยนต์ 2 คันซึ่งมีผู้มาร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบ คันแรกเป็นรถยนต์ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม จากการสอบสวนพบว่ารถคันดังกล่าวซื้อมาทั้งคันจากสหรัฐอเมริกา แต่ได้แยกชิ้นส่วนเข้ามาประเทศไทย มีการปลอมลายมือชื่อผู้อื่น พร้อมมาสำแดงการนำเข้าโครงรถยนต์เป็นยี่ห้อแพนเธอร์ ส่วนเครื่องยนต์เป็นยี่ห้อจากัวร์ หมายเลขตัวรถ 731 หมายเลขเครื่องยนต์ 8L 66240-L
สำหรับคันที่ 2 เป็นรถยนต์เบนซ์โบราณ ทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พบมีการกระทำผิดตั้งแต่กระบวนการนำเข้า การเสียภาษี และใช้เอกสารเท็จ ทั้งนี้ ดีเอสไอขอยืนยันว่าการสอบสวนทุกคดีได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาตามหลักฐานและข้อเท็จจริง ส่วนรถคันอื่นๆ ก็พร้อมดำเนินการทั้งหมด
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าวว่า การตรวจสอบรถยนต์ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน พบว่าได้จดทะเบียนทั้งคันที่สหรัฐอเมริกาเป็นยี่ห้อแพนเธอร์ แต่เกิดมีการเปลี่ยนทะเบียนขึ้น และหลวงพี่น้ำฝนได้ซื้อรถต่อจากคนไทยในสหรัฐอเมริกา ก่อนแยกชิ้นส่วนตัวถังกับเครื่องยนต์ส่งมาทางเรือเข้ามายังประเทศไทยและจดทะเบียนเป็นยี่ห้อจากัวร์ จนกระทั่งมาสำแดงเอกสารปรากฏชื่อนายชรินทร ปถคามินทร์ เป็นผู้นำเข้าโครงตัวถัง แต่จากการให้ปากคำนั้นเจ้าตัวบอกว่าถูกปลอมเอกสารลายมือชื่อทั้งหมด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่ในเรือนจำ จ.นครปฐม ส่วนหลวงพี่น้ำฝนมีชื่อเป็นผู้นำเข้าเครื่องยนต์เอง ก่อนได้มีการประกอบรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวขึ้นมา นอกจากนี้ ได้สอบปากคำผู้ครอบครองรถยนต์คันนี้ที่สหรัฐอเมริกาด้วยตัวเอง พบว่ากระบวนการลักษณะอย่างนี้เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อชำระเงินในราคาที่ถูกลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวเพียงแต่รวบรวมพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์ก่อน คาดว่าใช้เวลาอีกสักระยะ
“ส่วนรถยนต์ของสมเด็จช่วงนั้น พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายทุกขั้นตอนจนมาถึงกระบวนการปลอมแปลงเอกสารในการจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก โดยรถคันนี้จากการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าจริงแล้วราคา 4 ล้านบาท แต่มีการชำระภาษีสรรพสามิตในราคา 5.7 แสนบาท เท่ากับเป็นการชำระภาษีต่ำกว่าราคารถที่เป็นจริง ก่อนนำเอกสารไปขอจดทะเบียนรถต่อกรมการขนส่งฯ ในราคา 1 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินหายไป 3 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้ดำเนินคดีและออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานพบว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงก็จะส่งหนังสือไปเชิญ” พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าว
พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินคดีนั้นแบ่งเป็นกรณี ดังนี้ (1. กลุ่มผู้นำเข้าเครื่องยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปลอมเอกสารการนำเข้า เข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันลักลอบหนีศุลกากร หรือซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของหนีภาษีศุลกากร ตามมาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (2. กลุ่มผู้ที่นำรถไปชำระภาษีและจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก ทำให้รัฐเสียหาย มีความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบ มาตรา 83 และ (3. กลุ่มผู้ครอบครองรถ มีความผิดฐานร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน ตามความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27
ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยากล่าวว่า สำหรับรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องสงสัยทั้งหมดมี 7,123 คัน เจ้าหน้าที่ได้จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม (1. กลุ่มมูลค่าสูงเกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง (2. กลุ่มบุคคลที่มีการนำเข้าซึ่งต้องสงสัยเป็นรถจดประกอบประมาณ 100 กว่าคันขึ้นไป ซึ่งจะมีหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบรายละเอียดต่อไป (3. กลุ่มนำเข้าเป็นรายบุคคลอาจมีปริมาณไม่มากนัก หรือนำเข้าในลักษณะเพียง 1 คันและไม่มีราคาสูงมากนัก ซึ่งได้พิจารณาแล้วอาจไม่เข้าข่ายคดีพิเศษ และดีเอสไอพร้อมส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแทน