MGR Online - ศาลแขวงดุสิต สั่งจำคุก “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด 2 เดือน ปรับ 3 พัน รอลงอาญา 1 ปี กรณีไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557
วันนี้ (30 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนบรมราชชนนี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีแขวงดุสิต เป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3/2557 จากกรณีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 คสช.ได้แจ้งให้นายสมบัติ จำเลย เข้ารายงานตัวต่อ คสช.ที่หอประชุมกองทัพบก แต่นายสมบัติไม่ยอมมารายงานตัวตามคำสั่ง และยังได้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 ให้นายสมบัติมารายงานตัวซึ่งจำเลยได้รับทราบประกาศคำสั่งดังกล่าวแต่ก็ยังไม่มารายงานตัวตามคำสั่งโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง กระทั่งวันที่ 5 มิ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันจับกุมตัวนายสมบัติจากบ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง (เดิม) ให้ปรับ 500 บาท แต่ไม่ได้พิพากษาจำคุก โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยวันนี้นายสมบัติเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อม น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.(ขณะนั้น) และหัวหน้า คสช. มีคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวโดยจำเลยเป็นบุคคลตามรายชื่อในลำดับที่ 60 แต่จำเลยไม่มารายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์อ้างเหตุผลว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีการสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เห็นว่าพนักงานสอบสวนยืนยันว่ามีการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย จึงถือว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนจำเลยแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าคำฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดและเป็นการฟ้องไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่าจำเลยทราบคำสั่งให้มารายงานตัวแล้ว แต่จำเลยไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นฟ้องที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีอยู่แล้ว จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ที่จำเลยอ้างว่า คสช.ยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จ คสช.มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเรื่องทฤษฎี แต่ในข้อเท็จจริงอาจนับได้ว่าการทำรัฐประหารเป็นผลสำเร็จเมื่อมีการแสดงออกผ่านการมีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศ ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของพยานจำเลยเท่านั้น และการกล่าวอ้างของจำเลยหลายอย่างที่จำเลยใช้เป็นข้อแก้ตัวในการที่จะต่อต้าน คสช.นั้น อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
อีกทั้ง ประกาศ คสช.ฉบับที่ 25/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 เป็นการกล่าวย้ำให้ผู้ที่ไม่ได้มารายตัว ตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ให้มารายงานตัว หากจำเลยปฏิบัติตาม จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 25/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 ซึ่งกรณีนี้หาใช่บทลงโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่อย่างใด กรณีที่กำหนดให้จำเลยรายงานตัววันที่ 24 พ.ค. 2557 และเมื่อจำเลยไม่มาจำเลยจึงมีความผิด อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. เฉพาะที่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 25/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 อีกบทหนึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศของ คสช.อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ กล่าวว่า จะยื่นฎีกาต่อไปโดยใช้แนวทางเดิมที่ต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 500 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่ศาลอุทธรณ์มองว่าเป็นการขัดประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับตามที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์มา