MGR Online - “พล.ต.ต.อดุลย์” ย้ำ จยย.ห้ามขึ้นสะพานลงอุโมงค์ ระบุช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกว่า 588 ราย ด้าน จนท.ชี้อุบัติเหตุจาก จยย.เกิดมากกว่าเก๋ง โดยเฉพาะช่วงทางลาดที่ยากต่อการควบคุมรถ ระบุสะพานส่วนใหญ่ใช้เพื่อระบายการจราจรไม่มีไหล่ทางเพื่อ จยย.
วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 13.30 น. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงศักดิ์ รอง ผบช.น., พร้อมด้วยนายสุจิณ มั่งนิมิต กรมทางหลวง, นายศาศวัต ภูริภัสสรกุล กรมทางหลวงชนบท, นายสมชาย เดชากรณ์ สำนักการจราจรและขนส่ง และนายโรจน์ ไตรวิทยาศิลป์ สำนักโยธา ร่วมกันแถลงการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรห้ามรถขึ้นสะพานลงอุโมงค์
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า ตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 ซึ่งประกาศวันที่ 28 มีนาคม 2559 โดยให้มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปมีกำหนดระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่มีการออกประกาศข้อบังคับฉบับดังกล่าวออกไปได้มีกลุ่มจักรยานยนต์ออกมาคัดค้านและมีการรวมตัวเพื่อยื่นฟ้องกองบัญชาการตำรวจนครบาล, กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวง ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าข้อบังคับดังกล่าวนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. การที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วย การห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 เป็นการออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 139 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจร ถ้าเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการจราจร มีอำนาจออกประกาศข้อบังคับห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดินในเส้นทางใดได้
2. เนื่องจากที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีรถจักรยานยนต์ขับขี่ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ และมักเกิดอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้ทุกสถานีตำรวจนครบาลทั้ง 88 สน.ตรวจสอบว่ามีสะพานและอุโมงค์ใดที่ไม่ได้มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร ผลการตรวจสอบพบว่าได้มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรไปแล้ว 27 สะพาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ซึ่งยังคงมีอีก 52 สะพาน และ 10 อุโมงค์ที่ยังมิได้มีการออกข้อบังคับ
3. กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงได้สั่งการให้ทุก สน.ตรวจสอบข้อมูลว่ามีสะพานและอุโมงค์ใดบ้างที่จะต้องมีการออกขังบังคับเจ้าพนักงานจราจร เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุและเพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวในทุกทางร่วมทางแยกต่างๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 จึงได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวใน 39 สะพาน และ 6 อุโมงค์ มีกำหนดระยะเวลา 90 วัน สำหรับในสะพานและอุโมงค์อื่นๆ ที่ยังมิได้มีการออกข้อบังคับเนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วน จึงได้มีการสั่งการให้ สน.ที่รับผิดชอบไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะได้ประกาศออกข้อบังคับในคราวต่อไป
4. หลังจากที่มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 ได้มีการประเมินผลใน 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ด้านความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จำนวน 2,000 ราย ได้ผลดังนี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ไม่ให้จักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์, เห็นว่าการที่ให้จักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์น่าจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงและไม่ปลอดภัย, เห็นว่าถ้าจะให้จักรยานยนต์วิ่งบนสะพานและลงอุโมงค์นั้นจะต้องมีการกำหนดและแบ่งช่องทางให้ชัดเจนเพื่อลดอุบัติเหตุ และผลสำรวจสรุปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการไม่อนุญาตให้จักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ส่วนที่ 2 ด้านวิศวกรรม ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, กรุงเทพมหานคร และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมหารือ จึงขอให้หน่วยงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลในด้านวิศวกรรมได้รับทราบตามลำดับ 1. กรมทางหลวง 2. กรมทางหลวงชนบท 3. กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักการโยธา 4. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่วนที่ 3 ด้านสถิติอุบัติเหตุจราจร ปรากฏว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรที่เกิดกับจักรยานยนต์ในกรุงเทพมหานครย้อนหลังมีผลดังนี้ ปี 2556 เกิดอุบัติเหตุ 8,821 ราย, ปี 2557 เกิดอุบัติเหตุ 9,053 ราย, ปี 2558 เกิดอุบัติเหตุ 10,488 ราย โดยมีสถิติอุบัติเหตุที่เกิดบนสะพานและในอุโมงค์ ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 จำนวนทั้งสิ้น 588 ราย
นายสุจินกล่าวว่า สะพานหรืออุโมงค์ในทางวิศวกรรมจราจรทางการออกแบบ มี 2 แบบ 1. คือ ออกแบบเพื่อเป็นทางสัญจรให้รถทุกประเภทใช้สะพานตัวนั้น โดยทั่วไปสะพานที่มีไหล่ทางส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง วัตถุประสงค์หลักสะพานและอุโมงค์เพื่อแก้ปัญหาการจราจร คือ ใช้ระบายรถขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ผิวจราจรให้มากที่สุด 2. คือ การออกแบบลักษณะสะพานเพื่อแก้ปัญหาจราจรโดยเฉพาะรถยนต์เพื่อขึ้นสะพาน ไม่ได้ออกแบบเพื่อจักรยานยนต์
นายศาศวัตกล่าวว่า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 13 ตัว ซึ่งไม่ได้ห้ามจักรยานยนต์ใช้ แต่จะมีเพียง 2 สะพาน คือ พระราม 3 และภูมิพล เนื่องจากสะพานทั้งสองสะพานนั้นสูงจากระดับน้ำประมาณ 50 เมตร ส่งผลให้เชิงลาดสะพานยาวมากกว่าจะไต่ถึงระดับสูงสุดและทางลงเป็นระยะทางร่วมกิโลเมตร ทั้งสองอย่างประกอบกันทำให้จักรยานยนต์ยากต่อการควบคุมขับขี่ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก จากผลสำรวจช่วงปีที่ผ่านมาอนุญาตให้จักรยานยนต์ขึ้นสะพานภูมิพลพบเกิดอุบัติเหตุมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
นายสมชายกล่าวว่า สำนักการจรจรและขนส่งเล็งเห็นว่าจักรยานยนต์มีสมรรถนะและลักษณะทางกายภาพค่อนข้างจำกัดการที่จะไปใช้ร่วมกับรถยนต์ในสะพานหรืออุโมงค์จะเป็นอันตราย โดยเฉพาะขาลงจากสะพานหรือขาลงจากอุโมงค์ซึ่งการเบรกและการทรงตัวเป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะหากถนนลื่นด้วยความแคบของเลนหากจักรยานยนต์ล้มในอุโมงค์จะหลบเลี่ยงกันไม่ได้ และจะเป็นอันตรายมากหากใช้ร่วมกับรถยนต์
นายโรจน์กล่าวว่า สำนักการโยธาได้ทำการปรับสะพานหลักเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรโดยเฉพาะสะพานข้ามแยก ปกติสะพานข้ามแยกในเมืองส่วนใหญ่มีพื้นที่จำกัดจึงไม่สามารถออกแบบให้มีไหล่ทางเหมาะกับจักรยานยนต์ จึงทำให้จักรยานยนต์ขับได้ช้าและทำให้รถขนาดใหญ่ที่ขับตามหลังมาช้าไปด้วยทำให้ไม่สามารถระบายรถได้ดี
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวที่ออกมา ซึ่งจากการประชุมกับ สน.พื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2559 ส่วนมากเห็นด้วยที่จะให้มีการออกข้อบังคับถาวร จะมีเพียงบางส่วนที่ยังต้องไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม คือ อุโมงค์รามคำแหง-พัฒนาการ เนื่องจาก สน.ที่รับผิดชอบแจ้งว่าหากไม่อนุญาต ผู้ขับขี่จักรยานยนต์จะต้องไปกลับรถเป็นระยะทางไกลกว่า 5 กิโลเมตร ในเรื่องนี้จะได้มีการนัดหมายประชุมกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป และสำหรับกรณีที่มีกลุ่มจักรยานยนต์บางกลุ่มมาประท้วงนั้น ขอเรียนว่ากองบัญชาการตำรวจนครบาลมีความเห็นใจและยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย แต่อยากขอความร่วมมือว่าไม่ต้องมีการนัดรวมตัวประท้วงเพื่อกดดัน กองบัญชาการตำรวจนครบาลจะได้นัดหมายให้มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีให้แก่กลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ต่อไป