กลุ่มขับรถมอเตอร์ไซค์ยื่นศาลปกครอง ฟ้อง ผบช.น.-กทม.-กรมทางหลวง ให้เพิกถอนข้อบังคับห้ามจักรยานยนต์ขึ้นสะพานลอย-ลอดอุโมงค์ข้ามแยก
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญกรรม พร้อมตัวแทนเครือข่ายพันธมิตรชาวจักรยานยนต์รวม 80 คน เข้ายื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดช่องทางร่วมทางแยกรวม45 แห่งของ ผบช.น. และขอให้สั่งให้กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวง กำหนดหรือจัดสรร หรือแก้ไขช่องเดินรถสำหรับรถจักรยานยนต์บนสะพานหรืออุโมงค์ในกรุงเทพมหานคร
รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้จักรยานยนต์ จักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเช็ญที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวมีสิทธิขึ้นสะพานข้ามทางร่วม ทางแยก อุโมงค์ลอดช่องทางร่วมทางแยก
โดยในการยื่นฟ้องครั้งนี้มีกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์กว่า 400 คนมาร่วมให้กำลังใจ พร้อมกันนั้นสถานีตำรวจทุ่งสองห้องก็ได้จัดกำลังเจ้าหน้ามาดูแลความเรียบร้อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ฟ้องก็ได้มีการขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลสั่งระงับการบังคับใช้ข้อบังคับดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ นายอัจฉริยะกล่าวว่า แม้ว่าสะพานหรืออุโมงค์บางแห่งตามข้อบังคับดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดช่องทางเดินจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะก็ตาม แต่มีพื้นที่ของไหล่ทางเพียงพอที่จะสามารถกำหนดให้เป็นช่องทางเดินรถสำหรับจักรยานยนต์ได้อยู่แล้ว จึงเห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจราจร หรืออุบัติเหตุทางเจ้าหน้าที่รัฐสามารถแก้ไขด้วยวิธีการอื่นที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพการเดินทาง รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนได้ แต่ ผบช.น.กลับเลือกใช้วิธีการออกข้อบังคับฯ โดยไม่มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจราจรมาประกอบการใช้ดุลยพินิจออกข้อบังคับดังกล่าวทำให้ผู้ใช้จักรยานยนต์กว่า 3.3 ล้านคนในกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ถือเป็นการสร้างภาระเกินสมควรก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
อีกทั้งพบว่าสะพานข้ามแยกบางแห่งไม่อยู่ในข้อบังคับฯ แต่สถานีตำรวจในพื้นที่กลับมีการขึ้นป้ายห้ามเพียงเพื่อหวังจะได้จับเอาค่าปรับ ดังนั้น การห้ามรถประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้ตามข้อบังคับของ ผบช.น. จึงเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม เพราะในกรุงเทพมหานครยังมีสะพานทางร่วมทางแยกอีกหลายสะพานที่มีลักษณะเดียวกับสะพานทางร่วมทางแยกตามข้อบังคับฯ แต่ ผบช.น.ก็กลับไม่ออกข้อบังคับห้ามไว้