xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติเผยยอดคดีเมาแล้วขับ พบ 3 จังหวัดครองแชมป์คดีมากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมคุมประพฤติแจ้งยอดคดีเมาแล้วขับเทศกาล จากปี 2558 มี 4,051 ราย เพิ่มขึ้น 1,177 คดี มีจังหวัดติดอันดับสถิติคดีสูงสุด กรุงเทพฯ 284 คดี ปทุมธานี 265 คดี สกลนคร 223 คดี วาง 2 มาตรการบังคับโทษ บริการสังคม 48 ชั่วโมง บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ใน รพ.

วันนี้ (20 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยนายนนทจิตร เนตรพุกกณะ ผอ.กองกิจการชุมชนและบริการชุมชน และนายพยนต์ สินธุนาวา ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ ร่วมแถลงข่าวสรุปยอดผู้ถูกคุมความประพฤติคดีเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559

พ.ต.อ.ณรัชต์เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 3,656 ราย รวมทั้งมีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติ ทั่วประเทศ 5,631 ราย แบ่งเป็น เมาสุราขับรถ 5,228 คดี และคดีอื่นๆ 403 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 มี 4,051 ราย เพิ่มขึ้น 1,177 คดี คิดเป็นร้อยละ 29.05 และจังหวัดที่มีสถิติคดีสูงสุด 3 อันดับ คือ 1. กรุงเทพมหานคร 284 คดี 2. จ.ปทุมธานี 265 คดี และ 3. จ.สกลนคร 223 คดี จากการติดตามผู้ที่พ้นการถูกคุมความประพฤติพบว่าในคดีขับขี่รถขณะเมาสุรา มีผู้กระทำผิดซ้ำตลอดปีงบประมาณ 2558 คิดเป็นร้อยละ 5.18 เท่านั้น

“สำหรับมาตรการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล โดยกรมคุมประพฤตินั้น ให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ และกรมคุมประพฤติมี 2 มาตรการ คือ 1. ให้ทำงานบริการสังคมอย่างน้อย 48 ชั่วโมง และ 2. เราจะใช้ให้บริการสังคมในเชิงที่เข้มข้น คือให้เข้าไปบริการสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือบุคลากรในโรงพยาบาล หรือที่มูลนิธิในการไปดูแลผู้เจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน”

พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ในการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกอีกหลายมาตรการ เช่น การใช้หลักศาสนากล่อมเกลาจิตใจ การช่วยเหลืองานมูลนิธิเมาไม่ขับ การช่วยเหลืองานของเจ้าพนักงานตำรวจด้านจราจร หรือความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ตลอดจนพนักงานคุมประพฤติ และอาสาสมัครคุมประพฤติที่ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา ตักเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ถูกคุมความประพฤติได้ อย่างไรก็ตาม กรมคุมประพฤติเชื่อว่านโยบายสร้างจิตสำนึกจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการเผยแพร่ให้สังคมได้ตระหนักรู้ถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายจราจรซึ่งเป็นกฎแห่งความปลอดภัย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น