xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติแจงทำงานบริการสังคมในห้องดับจิตอยู่ในกรอบกฎหมายไม่ละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ
 
MGR Online - กรมคุมประพฤติชี้แจง 4 ข้อการทำงานบริการสังคมในห้องดับจิต ดำเนินการตามกรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

วันนี้ (17 เม.ย.) พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ตามที่มีคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการคุมประพฤติตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะให้ไปทำงานบริการสังคมด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น กรมคุมประพฤติ ขอชี้แจง 4 ข้อ ดังนี้

1. มาตรการดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมหลายฝ่าย เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 59 ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ เชิญผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อหามาตรการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติร่วมให้ผู้ถูกคุมประพฤติไปบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล หรือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมาน การสูญเสียสมรรถภาพจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่ให้มีความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า 2. การดำเนินการนั้นสอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการทำงานบริการสังคม ว่า ให้ผู้กระทำผิดไปรายงานตัวต่อพนักงานที่ศาลระบุไว้ เพื่อเจ้าพนักงานจะได้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร หรือจัดให้ทำกิจกรรมบริการสังคม

3. หากมีคำสั่งให้บำเพ็ญประโยชน์ด้วยการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนั้น หากจะมีการนำเข้าห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือห้องดับจิต จะมีการประสานงาน เห็นชอบ ให้ความร่วมมือ และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากทุกฝ่าย ทั้ง แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล เจ้าพนักงานคุมประพฤติ ผู้กระทำความผิด ตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือญาติของผู้เสียชีวิต และ 4. มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากผู้เมาแล้วขับ และขอยืนยันว่า จะดำเนินตามกรอบอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยมีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล พ.ต.อ.ดร. ณรัชต์ กล่าว

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าวปิดท้ายว่า ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ และทำงานบริการสังคมตามคำพิพากษาของศาลนี้ ล้วนเป็นผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาและศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วทั้งสิ้น โดยได้รับโอกาสในการรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่การกระทำผิดดังกล่าวจำเป็นต้องมีบทลงโทษและเงื่อนไขการคุมประพฤติ เพื่อให้เกิดความหลาบจำและเกรงกลัวต่อกฎหมาย อันจะส่งผลให้สังคมมีความปลอดภัยและเกิดความสงบสุข
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น