xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติย้ำ 3 ปี"แพรวา"ไม่เคยรายงานตัว บริการสังคม รพ.พระมงกุฏ ทำผิดที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online – กรมคุมประพฤติยัน 3 ปีแรก"แพรวา"ไม่เคยรายงานตัว อ้างติดเรียน แต่ ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ทำงานบริการสังคม 90 ชม.ที่ รพ.พระมงกุฏ แต่ผิดที่เพราะไม่ใช่หน่วยงานภาคี และต้องมีผู้ควบคุมดูแล รองเลาขาฯ ผู้ตรวจเผย"แพรวา"ร้องมาจริง แต่ไม่ใช่เรื่องข่มขู่

จากกรณี น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตเยาวชน ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถตู้โดยสาร จนเสียหลักหมุนชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำ มีผู้เสียชีวิตรวม 9 คน เมื่อปี 53 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี และเพิ่มเวลาบำเพ็ญประโยชน์เป็นปีละ 48 ชั่วโมง รวม 4 ปี และห้ามขับรถจนอายุ 25 ปี ภายหลังถูกศาลตัดสิน มีกระแสข่าวว่า น.ส.แพรวา ไม่ยอมมารายงานตัวและทำตามเงื่อนไขของกรมคุมประพฤตินั้น

ล่าสุด วันนี้ (21 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้ตนไม่ได้ลงไปดูมากแต่ พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติรายงานมา ทั้งนี้ บอกก่อนว่าตนไม่ใช่นักกฎหมายแต่ตามปกติ กรมคุมประพฤติจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเท่านั้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะผิดกฏมาย ม.157 ฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อศาลสั่งแล้วต้องปฏิบัติตามทุกขั้นตอนและผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประสานมายังกรมคุมประพฤติว่าจะให้ไปช่วยเหลือสังคมหรือบำเพ็ญประโยชน์ที่ไหน เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้เซ็นเอกสาร หากใครจะไปบำเพ็ญประโยชน์ที่ไหนก็ได้และให้ใครเซ็นก็จบ ฉะนั้น คนที่ถูกศาลสั่ง 100 คนก็ทำแบบนี้หมดแล้ว

ต่อมาเวลา 14.00 น. ห้องประชุม กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วย นายพยนต์ สินธุนาวา ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม

พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ กล่าวว่า ในส่วนกรมคุมประพฤติแต่ละปีมีผู้กระทำผิดประมาณ 330,000 คน แบ่งเป็น 1. กลุ่มรอลงอาญาไม่เกิน 3 ปี ส่งมากรมคุมประพฤติเนื่องจากศาลเห็นว่าติดคุกแล้วไม่มีประโยชน์แต่จะต้องมารายงานตัวเพื่อช่วยเหลือสังคม 2.กลุ่มผู้ทำกระผิดกฎหมายได้รับโทษไปแล้วเหลือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือเป็นนักโทษชั้นดีหรือได้รับการสั่งลดโทษ ซึ่งออกจากเรือนจำก่อนกำหนดแต่ต้องทำตามเงื่อนไขของกรมคุมประพฤติ และ 3.กลุ่มผู้เสพยาเสพติด ต้องเข้ารับการบำบัดก่อนส่งรักษาตัวไปรักษากับหน่วยงานเครือข่าย

พ.ต.อ. ดร.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี น.ส.แพรวา หลังศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว และศาลอุทธรณ์เพิ่มเวลาการรอลงอาญาอีก 1 ปี รวมเป็น 4 ปี โดย 3 ปีแรก น.ส.แพรวา ไม่ได้มารายงานตัวและบำเพ็ญประโยชน์ตามที่ศาลสั่ง เนื่องจากอ้างว่าติดเรียน แต่จากรายงานก็ถือว่า น.ส.แพรวา มีผลการเรียนที่ดีด้วยเช่นกัน จนกระทั่งจะครบกำหนด 4 ปีตามระยะเวลาคุมประพฤติ ในวันที่ 31 ส.ค.59 นี้ กรมคุมประพฤติส่งเรื่องให้เร่งดำเนินการทำงานบริการสังคมและทราบว่า เมื่อเดือน ก.พ.59 น.ส.แพรวา ทำงานบริการสังคมที่ รพ.พระมงกุฎ รวมระยะเวลา 90 ชั่วโมง แต่ไม่ได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ รวมทั้ง รพ.พระมงกุฏ ไม่ได้เป็นหน่วยงานภาคีร่วมกัน

"ต่อมา ทนายความของ น.ส.แพรวา ได้ยื่นเอกสารส่งให้ศาลโดยตรง พร้อมระบุทำงานบริการ 90 ชม. ที่รพ.พระมงกุฎ ซึ่งในคำร้องมีการแต่งตั้งคณะแพทย์ และทหารรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เซ็น โดยทางกรมคุมประพฤติไม่ทราบเรื่องมาก่อนและได้เชิญ น.ส.แพรวา มาเพื่อชี้แจงแต่เจ้าตัวไม่มา รวมทั้ง ไปร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินว่าเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติข่มขู่ จึงได้มายื่นเรื่องต่อศาล และมีกำหนดไต่สวน วันที่ 21 มิ.ย.นี้ และระหว่างนี้ศาลมีคำสั่งชัดเจนให้ น.ส.แพรวา มารายงานตัวเกี่ยวกับชั่วโมงที่เหลือกับกรมคุมประพฤติอย่างเคร่งครัด"

พ.ต.อ.ณรัชต์ เผยต่อว่า จากสถิติที่ผ่านมาคนกระทำผิดกฎหมายจำนวนมากแต่ศาลยังเมตตาให้โอกาสและส่งมายังกรมคุมประพฤติ แต่ก็มีผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่มีประมาณ 53,000 ราย หลังจากนี้จะนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย เฉพาะกรณีคนหลบหนีหาย ละเมิดกฎหมายอาญา ขอหมายศาลตรวจค้นตามจับกุมได้เลย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมเนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ ถ้ากรมคุมประพฤติไม่ได้ทำตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดเท่ากับไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามราชการออกแบบหน่วยงานนี้ขึ้นมา

ด้าน นายพยนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลพิพากษาแล้วส่งมาให้กรมคุมประพฤติ ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องมารายงานตัวและบริการสังคม ซึ่งหากมองให้ลึกซึ้ง คือ ศาลต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ถูกคุมประพฤติมากกว่าจะกำหนดระยะเวลา ยกตัวอย่าง อุบติเหตุรถชนคน ศาลก็ส่งไปตาม รพ. เพื่อดูแลคนเจ็บจากอุบัติเหตุท้องถนนจะได้ตระหนักและเปลี่ยนความคิดใหม่ โดยจะต้องร่วมกับหน่วยงานภาคีซึ่งจะมีระเบียบชัดเจนทุกขั้นตอน รวมทั้ง ผู้ควบคุมดูแลเซ็นเอกสาร แต่ไม่ใช่ผู้ถูกคุมประพฤติอยากจะไปทำงานบริการสังคมหน่วยงานไหนก็ได้ตามอำเภอใจได้

ขณะที่ นายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า น.ส.แพรวา ได้ยื่นคำร้องมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจริง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดตามคำร้องได้ ส่วนประเด็นการข่มขู่ของเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤตินั้นอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเรื่องที่มีการร้องเข้ามานั้นเป็นการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทำงานดำเนินการตามคำสั่งศาลครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ แต่ไม่มีเรื่องการข่มขู่ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในการประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวไปบ้างแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น