xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินผลก่อนเลิกจ้าง... สำคัญไฉน ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีรอบแรก (ตุลาคม-มีนาคม) ของข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐกันแล้ว... ซึ่งปกติจะประเมินกันปีละ 2 ครั้ง หรือ 2 รอบ โดยรอบที่สอง ก็คือช่วงเดือนเมษายน-กันยายน ในปีเดียวกัน

ช่วงเวลานี้...ผู้ปฏิบัติงานต่างก็อยากรู้ว่าผู้บังคับบัญชาของตนจะประเมินอย่างไร ผลการปฏิบัติงานของตนจะมีประสิทธิภาพเข้าตาผู้บังคับบัญชาหรือไม่ !! โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ผลการประเมินในการต่ออายุสัญญาจ้าง ฉะนั้น ผู้บังคับบัญชาจึงต้องยึดหลักคุณธรรมและประเมินผลงานตามความเป็นจริง ปราศจากอคติทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของระบบการบริหารงานบุคคลในภาพรวมขององค์กร

การประเมินผลการปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเหตุผลเชิงประจักษ์ที่จะใช้ชี้วัดการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน และเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลต่างๆ เช่น การเลื่อนเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การเลิกจ้างหรือต่ออายุสัญญาจ้าง ฯลฯ

เช่นเดียวกับคดีนี้... ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ โดยมีอายุการจ้างงานตามสัญญา 4 ปี แต่เมื่อใกล้จะครบกำหนดเวลาตามสัญญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กลับไม่ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีรอบที่ 2 และในขณะเดียวกันก็ได้มีประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานจ้างในตำแหน่งต่างๆ หลายตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย กระทั่งสัญญาของผู้ฟ้องคดีครบกำหนดและไม่ได้รับการต่ออายุสัญญาในที่สุด

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การไม่ต่อสัญญาจ้างโดยไม่มีการประเมินผลการปฏิบัติงานก่อน ถือเป็นการปฏิบัติผิดข้อกำหนดในสัญญาจ้าง ทำให้ตนเองได้รับความเสียหายโดยขาดรายได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจว่า การที่พนักงานจ้างไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง เนื่องจากสิ้นอายุเวลาตามสัญญาจ้างพอดี ผู้บังคับบัญชาไม่จำต้องประเมินผลการปฏิบัติงานได้หรือไม่ ? ประเด็นนี้ มาฟังเฉลยจากศาลปกครองกันครับ

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อข้อ 6 ของสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้างตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำหนดไว้ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลเรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง มีข้อกำหนดว่า ในระหว่างสัญญาจ้างให้องค์การบริหารส่วนตำบลจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง ในกรณีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีและกรณีเพื่อต่อสัญญาจ้าง โดยให้มีการประเมินปีละ 2 ครั้งตามรอบปีงบประมาณ รวมทั้งได้ระบุถึงความสำคัญและประโยชน์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานเอาไว้ด้วยว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้างเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือบริหารพนักงานจ้าง โดยใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเรื่องต่างๆ รวมทั้งการเลิกจ้างและการต่ออายุสัญญาจ้าง

จากข้อกำหนดในสัญญาจ้างระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลกับผู้ฟ้องคดีและตามประกาศคณะคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลเรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้างดังกล่าว เห็นอย่างชัดเจนว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาต่ออายุหรือไม่ต่ออายุสัญญาจ้าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาและประกาศดังกล่าว

เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีก่อนที่จะไม่ต่อสัญญาจ้าง รวมทั้งได้มีประกาศรับสมัครเพื่อสรรหาบุคคลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะครบอายุตามสัญญาจ้าง อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ประสงค์จะต่อสัญญากับผู้ฟ้องคดี จึงรับสมัครพนักงานจ้างรายใหม่มาทำงานแทน ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าได้มีการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานผู้ฟ้องคดีหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้พ้นอายุตามสัญญาจ้างไปแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลมิได้นำผลการปฏิบัติงานมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารพนักงานจ้างตามเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลเรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้างดังกล่าว

กรณีจึงถือว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ปฏิบัติตามประกาศที่หน่วยงานกำหนดไว้และไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง อันถือเป็นการกระทำผิดสัญญาทางปกครอง และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีข้อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่ผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดจึงกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนด คือรายได้ที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับจากเงินเดือนเป็นจำนวนหนึ่งปี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.310/2558)

เรื่องของการบริหารงานบุคคล...เป็นเรื่องที่ต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ตัวเราเองต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไร ผู้อื่นก็ต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างนั้น เช่นเดียวกัน....นั่นเองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น