xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารปราบทุจริต ปรับการทำงาน ป.ป.ท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารปราบทุจริต ปรับโครงสร้าง ป.ป.ท.ให้มีอิสระการทำงาน ให้การไต่สวนคดีเร็วขึ้น ปรับการได้มาของกรรมการฯ ก่อนเห็นชอบเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ท. พนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐของ ป.ป.ท.ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท.ให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งในการหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้กระบวนการไต่สวนคดีมีความรวดเร็วขึ้นอีกด้วย และให้อำนาจเลขาฯ ป.ป.ท.มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท.และสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาได้

นอกจากนี้ยังปรับการได้มาของคณะกรรมการ ป.ป.ท.โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ท.องค์กรละ 5 คน รวม 15 คน จากนั้นให้คณะกรรมการคัดเลือก ที่ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน คัดเลือกให้ได้คณะกรรมการ ป.ป.ท. จำนวน 5 คน ที่จะพ้นจากวาระดำรงตำแหน่งเมื่ออายุครบ 75 ปี

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา ซึ่งส่วนใหญ่คณะกรรมาธิการฯได้มีการเพิ่มเติมข้อความใหม่ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยสมาชิกเห็นด้วยตามที่คณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไข และได้ลงมติเห็นขอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 168 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น