MGR Online - โฆษก ตร.แจงคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 ปรับพนักงานสอบสวนเข้าไลน์ตำแหน่งหลัก ทำหน้าที่ทั้งสืบ-สอบ รองรับภารกิจที่หลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวน ชี้ ปชช.ได้ประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ย้ำอำนาจหน้าที่ ค่าตอบแทนยังเหมือนเดิม
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ 10) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล (ผบช.สกพ.) และ พล.ต.ต.สรไกร พูนเพิ่ม ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร อดีตผู้บังคับการกองทะเบียนพล ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ คสช. มีคำสั่งคสช.ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดย พล.ต.อ.เดชณรงค์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมทางคดีอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในสถานีตำรวจ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งปรับเปลี่ยนพนักงานสอบสวนให้สามารถรองรับภารกิจต่างๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวน โดยเฉพาะด้านขวัญกำลังใจของพนักงานสอบสวน หากมีการปรับเข้าสู่ตำแหน่งหลักแล้วการปรับย้ายทางข้าง และการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับผู้บริหารงานตำรวจที่มีความรอบรู้ หลากหลายมิติในระบบงานตำรวจ เน้นการบูรณาการการทำงาน จนมีความรู้สหวิทยาการ ตรงนี้ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลสุดท้ายประโยชน์สูงสุดก็จะตกอยู่กับประชาชน
พล.ต.อ.เดชณรงค์กล่าวว่า ตนขอเล่าย้อนไปในอดีต รองสารวัตรหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้ง มีชื่อตำแหน่งว่ารองสารวัตรสืบสวนสอบสวน เมื่อเข้าเวรสอบสวนจะรับแจ้งความอรรถคดีต่างๆ จากประชาชน มีการไปดูที่เกิดเหตุ สั่งการให้ตำรวจสายตรวจ และตำรวสจสายสืบไปช่วยกันทำงานในการรวบรวมพยานหลักฐาน ระยะเวลาต่อมามีการแยกงานสืบสวน และงานสอบสวนออกจากกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้เกิดความถนัดงานงาน ตรงนี้เป็นวิวัฒนาการสนองต่อความต้องการในการบริหารป้องกันเหตุ หรือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ต่อมาอีกระยะอยากเห็นความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานสอบสวน จึงให้มีเงินประจำตำแหน่ง แบ่งเป็นพนักงานสอบสวน (สบ 1) - (สบ 3) กำหนดให้มีการประเมินเลื่อนตำแหน่ง มีการเลื่อนไหลแทนกันได้ มีการปรับควบตำแหน่งได้ เพื่อให้สามารถเติบโตในสายงานได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งสถานการณ์ในบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไป การควบคุมบังคับบัญชาไม่หลากหลายสายงาน พนักงานสอบสวนก็สอบสวนอยู่ในมิติเดียว งานสืบสวนก็อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ไม่บูรณาการการทำงาน การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จึงเปลี่ยนไปสู่ตำแหน่งหลัก รองสารวัตรสอบสวน และสารวัตรสอบสวน มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 18 เหมือนเดิม อำนาจหน้าที่เหมือนเดิม เงินประจำตำแหน่งยังคงได้รับเหมือนเดิม เพียงแต่ชื่อตำแหน่งเปลี่ยนแปลงไป
“ของใหม่คือทั้งสืบและสอบในตัวเอง สารวัตรสอบสวนต้องไปแสวงหาพยานหลักฐาน และทำสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการ ตรงนี้ประชาชนได้ประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ณ สถานีตำรวจ และที่สำคัญที่สุดกลุ่มงานสอบสวนสามารถที่จะสามารถย้ายทางข้างโดยตำแหน่งไม่เสีย อย่างนี้ถือว่าเป็นคุณ ต่อไปนี้ผู้บริหารงานสถานีตำรวจจะต้องเข้าใจงานตำรวจหลากมิติ ต้องรอบรู้ทั้งงานสอบสวน งานสืบสวน งานป้องกันและปราบปราม งานจราจรและงานอำนวยการ ตรงนี้ถือเสน่ห์ เป็นนายตำรวจที่สามารถบริหารงานสถานีตำรวจอย่างมีคุณภาพ หรือเป็นสมาร์ทโปลิศ ตรงนี้เป็นลักษณะอันพึงประสงค์ของหัวหน้าหน่วยระดับโรงพัก โดยสรุปแล้ว การปรับเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานสอบสวนครั้งนี้ถือว่าเป็นคุณ ตรงนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกของการปฏิรูปตำรวจ ทำให้การทำงานสนองตอบความต้องการของประชาชน ทำให้สามารถให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น” โฆษก ตร.กล่าว
เมื่อถามว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการอย่างไรตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.เดชณรงค์กล่าวว่า อาจจะมีการปรับเกลี่ย โดยมีการประชุมเพื่อหาจุดที่เหมาะสม ตรงนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเขาจะได้รับการดูแลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างพี่อย่างน้อง อย่างคนในองค์กร เราจะจัดให้เขาในตำแหน่งที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดในการสนองตอบความต้องการของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ
ด้าน พล.ต.ต.สรไกรกล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าวออกไปก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตนจึงขอชี้แจงว่าตำแหน่งพนักงานสอบสวนในปัจจุบัน เป็นตำแหน่งที่เลื่อนไหล สามารถปรับเพิ่มได้ในตัวเอง การเจริญเติบโตในหน้าที่การงานด้วยการประเมิน ลักษณะนี้อย่างนี้ทำให้เกิดความลักลั่นกับข้าราชการตำรวจในสายงานอื่นที่อยู่ในสถานีตำรวจเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานปราบปราม สืบสวน อำนวยการ และจราจร เนื่องจากสายงานอื่นในการแต่งตั้งโยกย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จะต้องพิจารณาทั้งตำแหน่งว่าง และพิจารณาผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ปัญหาจากการกำหนดตำแหน่งลักษณะอย่างนี้ ทำให้การสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจเดียวกันทำได้ยาก เนื่องจากสายอื่นไม่สามารถมาทดแทนตำแหน่งพนักงานสอบสวนได้ ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงทุกครั้งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจวาระประจำปี พนักงานสอบสวนจะพยายามวิ่งเต้นออกนอกสายงาน แต่ก็กระทำได้ยาก เพราะสายงานอื่นไม่สามารถไปทดแทนพนักงานสอบสวนได้
พล.ต.ต.สรไกรกล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาที่พบ คือ ขณะนี้มีพนักงานสอบสวนได้ประเมินเลื่อนตำแหน่งสูงจึ้นเป็นจำนวนมากที่ไปดำรงตำแหน่งเดียวกับหัวหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งก็คือตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ยศ พ.ต.อ. ทำให้เกิดปัญหาการปกครองบังคับบัญชา การประสานงาน และการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะงานสืบสวนและงานสอบสวนที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานร่วมกันในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจะนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ โดยหลักการสถานีตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน เป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ผกก.ในฐานะหัวหน้าสถานีตรวจจะต้องมีเอกภาพ ในการปกครอง บังคับบัญชา และสามรารถสั่งการได้ การปรับเปลึ่ยนครั้งนี้เป็นการปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เป็นตำแหน่งหลัก เดิมทีเรียกตำแหน่งนี้ว่า รองสารวัตรสอบสวนและสารวัตรสอบสวน
“ล่าสุดสื่อมวลชนบางฉบับไปลงข่าวว่าการปรับเปลี่ยนนี้จะไปจำกัดเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง ขอเรียนว่าขณะนี้มีพนักงานสอบสวนยื่นประเมินเพื่อรอการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้มีบันทึกสั่งการแล้วว่าภายใน 15 วัน ก่อนที่คำสั่ง คสช.นี้จะมีผลบังคับใช้ ก็ให้พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจกลุ่มนี้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ก็ถือว่าไม่ได้เป็นการกระทบสิทธิกับข้าราชการตำรวจกลุ่มนี้แต่อย่างใด คนกลุ่มนี้ก็ยังทำหน้าที่สอบสวน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นสารวัตรสอบสวน หรือรองวารวัตรสอบสวน การบริหารงานบุคคลก็อยู่ภายใต้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯ เหมือนเดิม” พล.ต.ต.สรไกร ระบุ
พล.ต.ต.สรไกรกล่าวด้วยว่า ระยะต่อไป ผบ.ตร.มีแนวคิดที่จะกำหนดตำแหน่งระดับผู้บังคับการขึ้นไป เพื่อมาควบคุมกำกับดูแลการป้องกันและปราบปรามกระทำความผิดในลักษณะพิเศษต่างๆ อาจจะมีตำแหน่งคล้ายกับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ มารับผิดชอบการค้ามนุษย์ การก่อการร้าย และ อาชญากรรมข้ามชาติ สำหรับอีกประการหนึ่งที่เป็นข้อห่วงใย เรื่องความเชื่อมั่นในงานสอบสวน ตรงนี้ยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบสอบสวนดำเนิคดีในหลายระดับ โดยระดับพื้นที่ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับในคดีที่มีความสลับซับซ้อนหรือมีกฎหมายเฉพาะก็มีหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดูแลการปฏิบัติงาน ส่วนการดูแลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ก็มีสำนักงานจเรตำรวจอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะดูแลในกรณีที่พนักงานสอบสวนถูกโต้แย้งว่าไม่มีประสิทธิภาพ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม