ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ไปเต็มๆ ก็คือผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง จะมีเก้าอี้ในการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สามารถจับหมุน จับขึ้น จับจ่ายได้อีกจำนวนมาก และยังไม่ต้องกังวลเรื่องที่พนักงานสอบสวนขอแยกตัวออกจากสตช. อีกต่อไป
เขย่าขวัญ “สีกากี” ทั้ง “กรมปทุมวัน” 2 คำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ 1 บันทึกข้อความจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ออกมาพร้อมๆกัน เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 5ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 3 เรื่อง 3 ฉบับสอดรับกันเป็นจังหวะจะโคน และเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ “สารวัตร(สว.)-รองผู้บังคับการ(รองผบก.)” ประจำปี 2558 ที่เหล่า “นายพัน” กำลังเฝ้ารอ 2 คำสั่งแรกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และเรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกประกาศ
สาระสำคัญ เรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ กำหนดให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22พ.ค.2557 จนถึงวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนเรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน สาระสำคัญ คือการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจใหม่ ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั้งหมด และให้ ก.ตร.กำหนดตำแหน่งใหม่ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2559รวมทั้งให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามเดิม โดย ผบ.ตร.จะเป็นผู้แต่งตั้ง อีก 1 เป็นบันทึกข้อความ จาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ส่งถึงผบช.หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.หรือตำแหน่งเทียบเท่า ในสังกัด สง.ผบ.ตร. สาระสำคัญ เป็นการแจ้งให้ทุกหน่วยชะลอการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสว.-รองผบก.ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2558จากเดิมที่สั่งให้ทุกหน่วยดำเนินการมีคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 26 ก.พ.และมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มี.ค.2559
หากดูทั้ง 3 เรื่อง อาจดูเหมือนคำสั่งยุบพนักงานสอบสวน น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นสำคัญ และมีผลกระทบต่อ “ตำรวจ” โดยเฉพาะ”พนักงานสอบสวน”ทั่วประเทศ แต่พิจารณากันอย่างถี่ถ้วน พนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบเพียงแค่ชื่อตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน” ที่หายไป รวมทั้งจะไม่มีการแต่งตั้งโดยวิธีเลื่อนไหล แต่ตัวพนักงานสอบสวนจะถูกถ่ายโอนไปอยู่ตำแหน่งหลัก ที่จะมีการกำหนดขึ้นมาใหม่โดย ก.ตร. ทั้งระดับ สารวัตร รองผู้กำกับ ผู้กำกับการ รองผู้บังคับการ ที่สำคัญสิทธิต่างๆก็ยังคงอยู่ทั้งเงินประจำตำแหน่ง และการนับอายุอาวุโสราชการก็ยังได้รับตามหลักเกณฑ์ ก.ตร.เช่นเดิม ไม่ต้องมาเริ่มนับกันใหม่รวมทั้งในบันทึกสั่งชะลอการแต่งตั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุยกเว้นให้การแต่งตั้งพนักงานสอบสวนที่ผ่านการทดสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นประจำปี 2558และที่เกี่ยวกันกันให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่คำสั่ง หัวหน้า คสช.จะมีผลบังคับใช้
นั่นหมายความว่า พนักงานสอบสวนที่ผ่านการทดสอบเพื่อเลื่อนไหลเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นประจำปี 2558ยังมีการแต่งตั้งจนเสร็จสิ้น ภายในวันที่ 20ก.พ.ที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ขีดเส้นใช้บังคับคำสั่งดังกล่าวไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ก่อนจะยุบตำแหน่งมาใช้ตำแหน่งที่กำหนดใหม่ การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนครั้งนี้ เป็นเพียงการแก้ปัญหาการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเดิมที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ สั่งให้ทุก บช.ทำบัญชีแต่งตั้ง พบว่าหลักเกณฑ์ ก.ตร.ที่กำหนดให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่งผู้ที่มีอาวุโส 33% เป็นลำดับแรก มีพนักงานสอบสวนที่อยู่ในกลุ่มอาวุโส 33% เป็นจำนวนมาก
อย่าง”กองบัญชาการตำรวจนครบาล” หรือ “บช.น.” ปีนี้ระดับ รองผบก.ลงมาถึง สว. มีตำแหน่งว่าง 117 ตำแหน่ง เมื่อมาดูบัญชีอาวุโสระดับ รองผกก.ขึ้น ผกก.ที่มีเก้าอี้ว่าง 22 ตำแหน่ง ใน 33% คิดเป็น7-8 ตำแหน่ง มีพนักงานสอบสวน อยู่ในลำดับอาวุโส 3 ราย คือ อาวุโสลำดับ 4 พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน อาวุโสลำดับ 6พ.ต.ท.กู้เกียรติ จันทร์พุ่ม พงส.ผนพ.สน.คลองตัน อาวุโสลำดับ 8 พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พงส.ผนพ.สน.มักกะสัน หรือระดับ สารวัตร ขึ้นรองผกก. ที่มีเก้าอี้ว่าง 30 ตำแหน่ง ใน 33% คิดเป็น 9-10 ตำแหน่ง มีพนักงานสอบสวนอยู่ในบัญชีอาวุโสถึง 4 ราย
ซึ่งหากดำเนินการแต่งตั้งตามปกติ พนักงานสอบสวน ที่อาวุโสเหล่านี้ก็จะขยับออกมาอยู่ในตำแหน่งหลัก ตามกฎ ก.ตร. 33% โดยอัตโนมัติ เมื่อพนักงานสอบสวนเหล่านี้ออกมาอยู่ตำแหน่งหลัก ก็เท่ากับมาปิดหัวตำแหน่งหลักที่ไม่สามารรถแต่งตั้งใครได้ในระดับล่างๆลงไป เพราะตำแหน่งหลักไปแทนพนักงานสอบสวนไม่ได้ เท่ากับ พนักงานสอบสวนมากินโควตาตำแหน่งหลักจำนวนมาก ทำให้การแต่งตั้งไม่คล่องตัว ไม่ใช่แค่นครบาลเท่านั้นทุกกองบัญชาการทั่งประเทศ มีพนักงานสอบสวนอยู่ในกลุ่มอาวุโส 33%จำนวนมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องใช้วิธีตัดตำแหน่ง พนักงานสอบสวน มารวมกับตำแหน่งหลัก เมื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนเดิมที่อาวุโสขึ้นแล้ว ในแท่งนั้นก็แต่งตั้งพวกตำแหน่งหลักขึ้นแทนได้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ไปเต็มๆ ก็คือผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง จะมีเก้าอี้ในการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สามารถจับหมุน จับขึ้น จับจ่ายได้อีกจำนวนมาก และยังไม่ต้องกังวลเรื่องที่พนักงานสอบสวนขอแยกตัวออกจากสตช. อีกต่อไป แต่คำสั่ง คสช. เรื่องการคัดเลือกหรือการการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ นี่ซิ!!! มีผลกระทบต่อ “ตำรวจ” เต็มๆ โดยเฉพาะกลุ่มตำรวจที่ได้รับการเยียวยา จากมติ คณะ อนุ ก.ตร.เกี่ยวกับการร้องทุกข์ ชุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจแต่งตั้งขึ้นเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ตำรวจที่ถูกย้ายไม่ชอบ ทั้งจากเรื่องป้ายไฟบนป้อมจราจรในพื้นที่นครบาล และเรื่องอื่นๆอีกกว่า 200 นาย
มติเยียวยาจะตกไปทันที เพราะคำสั่งคสช.ฉบับนี้ การันตีทุกคำสั่งตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557เป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายรวมถึงคำสั่งย้ายใหญ่ “นครบาล” ยุคที่พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล นั่งเก้าอี้ ผบช.น. ย้ายตำรวจระดับ รองผบก.และผกก. ล็อตใหญ่ออกนอกหน่วย เมื่อมติเยียวยาตกไปเรียบร้อย บช.ต่างๆ ก็ไม่ต้องจัดสรรให้พวกเยียวยาตามมติ อนุก.ตร. เข้าไปรวมในการแต่งตั้งโยกย้าย รองผบก.-สว.ประจำปี 2558 เหมือนที่เตรียมการเอาไว้ ทำให้เก้าอี้ในการแต่งตั้งของ บช.ใหญ่ ซี่งถือเป็นเก้าอี้”ทองคำ” ทั้ง นครบาล สอบสวนกลาง ภูธรภาค 1 ภูธรภาค 7 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการยำรวมตำแหน่งพนักงานสอบสวน เก้าอี้ระดับเกรดเอว่างๆขนาดนี้ โควตาเพิ่มขึ้นขนาดนี้ คงไม่ต้องบอกว่าใครได้ประโยชน์ เดี๋ยวคำสั่งแต่งตั้ง รองผบก.-สว. ประจำปี 2558ออกมาก็คงรู้เด็กใคร สายไหน ผงาดทำเลทองกันพรึบพรับ!