xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมพนักงานสอบสวนหารือตามคำสั่งปรับโครงสร้าง คสช. ยันไม่มีคลื่นใต้น้ำ ด้านโฆษก ตร.ซัดกลุ่มเสียประโยชน์ดิ้น (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - นายกสมาคมพนักงานสอบสวน ถกท่าที คำสั่ง คสช. ปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวน ยืนยันไม่เคลื่อนไหวคัดค้าน แต่ส่วนใหญ่ให้คงไว้ แต่ขอทำงานสอบสวนต่อ ด้านรองโฆษก ตร. ซัดกลุ่มเสียประโยชน์ ต้องการแยกงานสอบสวนออกจาก ตร. อยู่เบื้องหลัง


วันนี้ (14 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ อดีตรอง ผบ.ตร. ในฐานะนายกสมาคมพนักงานสอบสวน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสมาคมพนักงานสอบสวน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานสอบสวน รวมทั้งรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ เพื่อเสนอต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่ง คสช. ที่ 6/2559 และ 7/2559 ปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้เป็นการหารือกันของคณะกรรมการสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกเป็นพนักงานสอบสวนจากทั่วประเทศ ต่อคำสั่ง คสช. ดังกล่าว โดยมีประเด็นที่หารือ 2 ประเด็น คือ ประชาชนจะได้รับบริการจากพนักงานสอบสวนต่างจากเดิมอย่างไร และพนักงานสอบสวนจะได้รับผลกระทบอย่างไรต่อคำสั่งนี้ ก่อนที่จะนำแนวคิดและข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้ เสนอต่อคณะทำงานที่มี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เป็นประธานในวันที่ 15 ก.พ. นี้

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย กล่าวต่อไปว่า ทางสมาคมฯ ไม่มีแนวคิดเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือ ต่อต้านคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากมองว่า คำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมาย พนักงานสอบสวนเป็นข้าราชการ จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เรามีการหารือว่าจะทำอย่างไรให้การบริการประชาชนของพนักงานสอบสวนดีอย่างเดิม หรือ ดีกว่าเดิม โดยที่พนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ สมาคมฯ จะเสนอว่าการเกลี่ยตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ และพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่า รอง ผบก. และ ผกก. ควรจะไปดำรงตำแหน่งใด แต่ในหลักการเราเสนอให้ได้ทำหน้าที่สอบสวนต่อไป เพราะถือว่าพนักงานสอบสวนเหล่านี้แต่ละคนได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการสอบสวนจนเชี่ยวชาญ ซึ่งประชาชนจะไดประโยชน์จากความเชี่ยวชาญดังกล่าว ส่วนเรื่องเงินประจำตำแหน่งทางผู้บังคับบัญชายืนยันว่าจะดำเนินการให้ได้รับกระทบน้อยที่สุด หรือไม่มีผลกระทบเลย นอกจากนี้ ก็ได้มีการเสนอเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานวสอบสวนว่า เมื่อมีการยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน และกลับไปใช้ระบบเดิม อยากให้ผู้บังคับบัญชาใช้ระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย

“ส่วนเรื่องความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าว ตรงนี้พนักงานสอบสวนเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วก็ต้องปฏิบัติ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องปฏิบัติ เราคิดกันว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะทำอย่างไรให้พนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน” พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ระบุ

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เห็นต่าง หรือ ไม่เห็นด้วยคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ตรงนี้ก็เป็นสิทธิ ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ได้มีการสรุปความคิดเห็นที่หลากหลายส่งให้กับผู้มีอำนาจพิจารณา ส่วนแนวคิดแยกงานสอบสวนออกจาหสำนักงานตรำวจแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ ตนได้จัดสัมมนา และมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน พบว่า ร้อยละ 66 ยังอยากให้งานสอบสวนยังอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สน.เทียนทะเล พล.ต.อ.วุฑฒิชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีที่จะเป็นผู้สรุปความเห็นในทางคดี เรื่องนี้ไม่สามารถคิดเองได้

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านการปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวน เชื่อว่า มีกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคล หรือ องค์กรที่พยายามเรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงขั้นมีการเสนอให้ตั้งสำนักงานสอบสวนแห่งชาติ สำหรับการออกมาแสดงความคิดเห็น หรือเรียกร้องขององค์กรเหล่านี้เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ และวินัย เพราะแต่ละคนยังเป็นข้าราชการตำรวจ ขณะเดียวกัน การเรียกร้องขององค์กร หรือ สมาคม ควรเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่ควรก้าวล่วงเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องระดับนโยบาย ซึ่งผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณา

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ในการแต่งตั้งโยกย้ายทุกปี มีพนักงานสอบสวนจำนวนมากที่วิ่งเต้นขอย้ายออกไปนอกสายงาน โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่า ผกก. และ รอง ผบก. แต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเมื่อมีการยุบตำแหน่ง ก็จะไปทำหน้าที่นิติกร สิทธิประโยชน์ก็ยังได้รับเหมือนเดิม ที่เสียไปไม่กี่พันบาทเท่านั้น ซึ่งผู้บังคับบัญชาพยายามที่จะดูแลเงินในส่วนนี้ให้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เรื่องนี้จะจบลงด้วยดี เพราะ ผบ.ตร. ลงมาดูแล พร้อมชี้แจงด้วยตนเองแล้ว ล่าสุด บางองค์กรที่เคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องนี้ได้ประกาศถอนตัวแล้ว

“งานสอบสวนเป็นงานที่มีเกียรติ ที่ผ่านมา ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย ก็มีการปรับเปลี่ยนมาโดนตลอด ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ผมมองว่า เราเป็นตำรวจจะต้องมีการปรับตัวตลอด เราต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะมัวนึกถึงแต่ประโยชน์ตัวเองไม่ได้” รองโฆษก ตร. กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวด้วยว่า จะมีการพิจารณาเรื่องวินัยกับพนักงานสอบสวนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดทางวินัยหรือไม่ หากมีการชุมนุมก็ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ แต่หากเป็นการพูดคุยกัน หรือหารือกันสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ใช่ลักษณะของการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบาย อย่างนี้ทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ตรวจสอบสมาคม หรือองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวว่ามีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมดูว่ามีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่ด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น