xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจดับเซ่นคำสั่ง “คสช.” ยุบ “พนักงานสอบสวน” ตอบโจทย์เพื่อใคร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นที่มาของปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการทลายแท่งพนักงานสอบสวนด้วยคำสั่ง คสช. ซึ่งหาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่คำนึงถึงลูกน้อง ยึดถือ“ธง” ที่ส่งลงมาให้เดินหน้าดำเนินการเป็นธงหลัก เราอาจจะได้เห็นเหตุการณ์ซ้ำรอย “พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์” รายที่ 2 ที่ 3 ก็ได้ใครจะรู้

การออกมายอมรับชนวนเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล และเลขาธิการสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ใช้เชือกผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านพักย่านบางบอน เกี่ยวข้องการปรับแต่งตำแหน่งพนักงานสอบสวน ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี น่าจะเป็นการตอกย้ำความ” ผิดพลาด”การออกคำสั่งยุบ”พนักงานสอบสวน”ครั้งนี้ในระดับหนึ่ง

แม้ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะออกมายืนยันหนักแน่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ระงับหรือยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่7/2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ซึ่งมีเนื้อหาใจความโดยสรุป “ยกเลิก” ตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ” ดังกล่าว

แต่การที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุ พล.ต.อ.จักรทิพย์ อาจจะเข้าไปพูดคุยกับผู้มีอำนาจในการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่พนักงานสอบสวนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีค่าตอบแทนเท่าเดิมหรือดีกว่าที่เป็นอยู่ ก็บ่งบอกให้เห็นว่า แม่ทัพใหญ่สีกากียอมรับถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด ในการเสนอให้ คสช.ออกมาคำสั่งยุบ”พนักงานสอบสวน”ครั้งนี้ ยิ่งเกิดเหตุการณ์ พ.ต.ท.จันทร์ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือให้พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนคำสั่ง หัวหน้าคสช. ยุบเลิกพนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวน มาผูกคอตายด้วยแรงกดดัน ตามมาด้วยพ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล ประธานสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ประกาศยุติบทบทในฐานะประธานสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ หลังออกมาแสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งยุบพนักงานสอบสวนดังกล่าว รวมทั้งขอโทษผู้บังคับบัญชาที่ทำให้ไม่สบายใจ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ การยุบ”พนักงานสอบสวน” ถูกต้อง เหมาะสม ตรงตามความต้องการของ”พนักงานสอบสวน” ตรงตามความต้องการของ”ประชาชน” ที่อยากเห็นการ“ปฏิรูปตำรวจ”แล้วหรือ???ถึงโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “พล.ต.อ.เดชณรงค์” จะบอกการปรับเปลี่ยนตำแหน่งนี้เป็นการปลดล็อคหรือเรียกว่าปล่อยนกออกจากกรง คือ พนักงานสอบสวนเหล่านี้เคยเป็นนกที่อยู่ในกรง ปล่อยเขาออมาก็จะได้โบยบินออกสู่โลกกว้าง เป็นผู้นำหน่วยและปฎิบัติตามกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งสืบสวนและสอบสวนภายในคนเดียว และมีโอกาสเติบโตในสายงานผู้บริหารในสถานที่ตำรวจหลักๆ อาทิ ผู้กำกับ ผู้กำกับกองสืบฯ ถามว่าในความเป็นจริงจะมี”พนักงานสอบสวน” กี่คน ที่จะได้เติบโต ได้โบยบิน ได้ไปเป็นผู้กำกับโรงพัก ผู้กำกับกองสืบฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนต่างก็รับรู้รับทราบตรงนี้ดีถึงมี “ปฏิกิริยา” แม้จะไม่มากนัก เพราะแค่แอะอะไรออกมาก็โดนบีบ โดนแรงกดดัน โดนสอบสวน จนต้องสังเวยชีวิต หรือไม่ก็ต้องกลืนอุดมการณ์ ยอมรับสภาพไปตามระเบียบ

ตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน” ไม่ใช่ “ตำรวจ”ทุกคนอยากเป็น อยากมาดำรงตำแหน่งนี้ เพราะความเจริญเติบโตในหน้าที่การงานต่างจากสายงานสืบสวน สายงานป้องกันปราบปราม ที่สามารถโชว์ผลงานสู่สาธารณะได้มากกว่า พนักงานสอบสวน ที่เหมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ คอยทำสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งให้อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา สายงานสอบสวนจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเหล่านักเรียนนายร้อย(นรต.)อยากมากินตำแหน่งหน้าที่สายงานนี้ ส่วนใหญ่ นรต.จบมาใหม่ๆ ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขต้องมาเป็นพนักงานสอบสวน 2 ปี พอครบ 2 ปี ต่างก็ขอย้ายไปอยู่สายงานสืบสวน สายงานป้องกันปราบปราม สายงานจราจร และสายงานอื่นๆมากกว่า อยู่ยั้งยืนยงเป็นพนักงานสอบสวน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ “กรมตำรวจ” สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน ประสบปัญหา “ขาดแคลน” ตำรวจที่จะมาทำงานสอบสวน เพราะรองสารวัตรสอบสวน(รอง สวส.) หรือสารวัตรสอบสวน(สวส.) ทำงานระยะหนึ่งก็ไม่สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้เหมือนสายงานอื่น เพราะทำแค่สำนวนการสอบสวน จึงขอย้ายออกไปอยู่สายอื่น กรมตำรวจ จึงแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการกำหนดตำแหน่ง รองสารวัตร(สบ.1) สารวัตร(สบ.2) และรองผกก.(สบ.3) และได้เงินประจำตำแหน่งเหมือนงานป้องกันปราบปราม โดยตำรวจที่มาลงตำแหน่งนี้มาจากการเปิดรับบุคคลภายนอกที่จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ ลอตแรกนั้น ประมาณ 700-800 คน เพื่ออบรมเป็นนายร้อยอบรม และลงมาประจำตำแหน่งงานสอบสวน

การทำงานในแท่ง สอบสวน ผ่านมาระยะหนึ่งก็เกิดปัญหา “สมองไหล” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากกระทรวงยุติธรรม ศาล และอัยการ มีการขยับอัตราเงินประจำตำแหน่งสูงขึ้น รวมทั้งตำรวจก็มาตันกันที่ สบ.3 ไม่ได้เติบโตขึ้นไปอีก จึงโอนย้ายออกไปรับเงินที่สูงขึ้นในหน่วยงานอื่นๆ แท่งการสอบสวนจึงถูกระเบิดออกใหม่ ปรับเป็น สบ.1 เป็นพนักงานสอบสวน เทียบเท่ารองสารวัตร สบ.2 เป็น พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ เทียบเท่า สารวัตร สบ.3 เป็น พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ เทียบเท่ารองผู้กำกับ สบ.4 เป็น พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เทียบเท่า ผู้กำกับ สบ.5 เป็น พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ เทียบเท่า รองผู้บังคับการ และสบ.6 เป็นพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เทียบเท่า ผู้บังคับการ พร้อมทั้งปรับเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง ประมาณ 20,000 บาท พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ต่างก็พอใจในแท่งพนักงานสอบสวนนี้ เพราะนอกจากได้เลื่อนไหลไปถึงระดับนายพลแล้ว สิ่งสำคัญคือพอใจกับเงินประจำตำแหน่ง 2 หมื่นบาท ซึ่งก็ยังไม่รวมถึงเงินค่าสำนวนอีกจำนวนหนึ่ง

พอจู่ๆมีคำสั่ง คสช. กำหนดตำแหน่งของข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ยกเลิกตำแหน่ง”พนักงานสอบสวน”ทั้งหมด กลับมารวมอยู่สายงานหลัก มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 ก.พ.2559 ซึ่งคือ วันที่ 20 ก.พ.นอกจากทำให้ชื่อตำแหน่งพนักงานสอบสวนหายไปเพื่อรอชื่อใหม่แล้ว เงินตำแหน่งพนักงานสอบสวน 17,040 บาทก็หายไปด้วย เหลือเงินค่าตำแหน่งแค่ 4 - 5 พันบาท และเมื่อไปอยู่ตำแหน่งใหม่ ก็จะไปได้เงินซีอีก 3,500 บาท รวมๆแล้วเดือนก็ได้เพียงแค่ประมาณ 9,500 บาท หากเงินเหลือแค่นี้แล้วพนักงานสอบสวนได้เติบโต ตามที่ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ยาหอม” เอาไว้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถือว่าแลกๆกันไป แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ นรต. เส้นสาย รุ่นต่างๆที่จะคอยช่วยเหลือสนับสนุนกันก็ต่างจาก นรต. ในจำนวน 1 หมื่นคนมีพนักงานสอบสวนไม่ถึง 10 - 20% ที่มีเส้นสายดีหากจะเติบโต ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นที่มาของปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการทลายแท่งพนักงานสอบสวนด้วยคำสั่ง คสช. ซึ่งหาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่คำนึงถึงลูกน้อง ยึดถือ"ธง" ที่ส่งลงมาให้เดินหน้าดำเนินการเป็นธงหลัก เราอาจจะได้เห็นเหตุการณ์ซ้ำรอย “พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์” รายที่ 2 ที่ 3 ก็ได้ใครจะรู้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น