เสียดาย “ออหมัก” ไม่ได้อ่าน! ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติยกคำร้องทุกข์ของ “เสรีพิศุทธ์” ร้องทุกข์คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาล “สมัคร” ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายทดแทนเงินประจำตำแหน่ง 2.9 แสนพร้อมดอกเบี้ย ระบุ นายกฯ ยุครัฐบาลนอมินีทักษิณใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องการเขี่ยเก้าอี้ แต่ค่าเสียหายต่อจิตใจไม่คิด
วันนี้ (3 ธ.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ คณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ในการประชุมครั้งที่ 18/2551 เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2551 ที่ยกคำร้องทุกข์ของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ร้องทุกข์คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายทดแทนเงินประจำตำแหน่งจากการกระทำละเมิด จำนวน 294,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวเป็นผลจากขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงในหลายประเด็น ทั้งทุจริตในโครงการรับซื้อลำไย ปี 2547 จากบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ทุจริตการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ ในปี 2551 และใช้เฮลิคอปเตอร์ราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว บุกรุกเข้าถือครองที่ดินในลำธารแม่น้ำแควน้อยอันเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 34/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 ที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น เป็นผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปโดยมีเจตนาต้องการให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งสองฉบับดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลสั่งให้นายกรัฐมนตรีเสนอโปรดเกล้าฯ ตนเองกลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหาย ทดแทนเงินเดือน เงินค่าบริหาร เงินประจำตำแหน่งรวม 788,550 บาท และค่าเสียหายต่อจิตใจ เกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูลรวมอีก 100 ล้านบาท
ส่วนที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า การที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ยังไม่มี ถือว่ามีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพราะเป็นเพียงขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ซึ่งต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เมื่อสอบสวนเสร็จก็ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาพิจารณาวินิจฉัยว่ามีความผิดหรือไม่ แต่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีไปก่อนนั้น เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรี ลับมาก ด่วนที่สุด ที่ นร. 0101/31 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 ไม่ปรากฏมีการอ้างข้อเท็จจริงในการเสนอให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาปฏิบัติราชการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภาพรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐที่ประโยชน์จะตกแก่ประชาชนอย่างไร อ้างเพียงว่าหากอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหลักฐานพยานสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างไร อีกทั้งพบว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีออกในวันเดียวกับที่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง การอ้างว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณา จึงไม่สมเหตุสมผล เพราะยังไม่มีการเริ่มสอบสวนหรือมีข้อเท็จจริงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนแน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ แต่เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เกษียณอายุราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 คำสั่งดังกล่าวจึงสิ้นผลไป ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาเพิกถอน และเมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ มีมติยกคำร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กรณีอุทธรณ์คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน สมควรที่ศาลจะเพิกถอนมติดังกล่าว
ส่วนผู้ถูกฟ้องทั้งหมดต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อย่างไรนั้น ศาลเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการทางวินัย แต่การใช้อำนาจนั้นต้องสุจริต มีเหตุอันควร ไม่กลั่นแกล้ง หรือมีมูลเหตุจูงใจที่ไม่ชอบ เมื่อปรากฏว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อนเกิดขึ้นเพียงแค่ 4 วัน หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบกับในคำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฏพยานหลักฐานข้อเท็จจริงว่าหาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ คงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ซึ่งแม้ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งยุติการสอบสวน เพราะระยะเวลาสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัย เกินกว่า 1 ปี ตามที่มาตรา 94 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ. ตำรวจ ปี 2547 กำหนดโดยการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. 2551 ถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2553 รวมระยะเวลาประมาณ 30 เดือน ไม่อาจหาพยานหลักฐานมารับฟังจนน่าเชื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาได้ ดังนั้น การดำเนินการทางวินัยร้ายแรง การให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี การให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เสียหาย จึงเป็นกระทำละเมิดตามมาตรา 240 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีกระทำในฐานะเป็นข้าราชการฝ่ายบริหารในขอบเขตภาระหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของนายกรัฐมนตรี
เมื่อพฤติการณ์ของนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต มีลักษณะมุ่งต่อผลเพื่อต้องการให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การจะรับผิดชอบชดใช้ จากคำชี้แจงของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับความเสียหายเฉพาะในส่วนของเงินประจำตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 ถึง 30 ก.ย. 2551 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 294,000 บาท จึงมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ในส่วนนี้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจ ชื่อเสียงนั้น ต้องเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจิตใจจริง เช่น ได้รับความทรมานจิตใจ หรือจิตใจได้รับความชอกช้ำ แต่กรณีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังไม่ถือว่าจิตใจได้รับความเสียหาย ส่วนชื่อเสียงวงค์ตระกูล วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่า การที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกดำเนินการทางวินัยเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากการบริหารภายใต้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สิ้นสุดลง กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และวงศ์ตระกูลต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการกระทำของนายกรัฐมนตรี.