xs
xsm
sm
md
lg

ตีตก“กฎ ก.ตร.”ฉบับชักบันไดหนี “รองผบ.ตร.”ผวา! เสี่ยงเข้าคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสลือสะพัดว่า มีความพยายามเสนอเงื่อนไขพิเศษ เพิ่ม”โควตา”เก้าอี้ให้มากกว่าธรรมเนียมที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ตราประทับไฟเขียวผ่าน ร่าง กฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ แต่เมื่อคิดสาระตะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะ “รองผบ.ตร.” ที่ยังมีโอกาสขึ้นเป็น ผบ.ตร. ในอนาคต หากถูกฟ้องศาลปกครองขึ้นมา ก็เหมือนปิดช่องทางการเติบโต คือการเอาอนาคตเข้าเสี่ยงจะถูกคดีเอาง่ายๆ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองยังเอากระดูกมาแขวนคอ ผลที่ออกมาก็คือ ร่าง กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ต้องถูกตีตกไปคำรบสอง
 
เห็นทีความพยายามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทั้งผลัก ทั้งดัน “กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559” ด้วยการให้ “รองผบ.ตร.”และ”จเรตำรวจแห่งชาติ” ตีตราประทับตาม”ใบสั่ง” ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เห็นชอบ จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนใจคิดอยากตามตัณหาของใครบางคนเสียแล้ว เพราะ”รองผบ.ตร.”และ”จเรตำรวจแห่งชาติ” ซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ “พล.ต.อ.” ไม่ยอมเป็นหมูในอวย ไม่เป็นเครื่องมือ และยอมหลับหูหลับตาปล่อยผ่านหลักเกณฑ์แต่งตั้งฉบับใหม่ ฉบับที่คน”สีกากี”ส่วนใหญ่ร้องยี้ แต่บิ๊กตำรวจระดับพลตำรวจเอกผู้มีส่วนกำหนดชะตากรรมคนสีกากีได้

ผนึกพลังตีตก ร่างกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 จากวงประชุมถึง 2 ครั้ง 2 ครา!!! นับแต่ครั้งแรกที่มีการ “ยัดเยียด” ร่าง กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 เข้าวงประชุม ก.ตร. มีระดับ รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อให้ตีตราประทับและประกาศใช้ กฎ ก.ตร.ใหม่ ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทันทีทันใด วาระ”รองผู้บังคับการ(รองผบก.)-สารวัตร(สว.)” ประจำปี 2558 ที่ค้างเติ่งมาข้ามปีซึ่งเนื้อหาหลักๆ ในร่าง กฎก.ตร.ใหม่ คือ การปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกหรือแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ด้วยการชักกระไดหนีระดับ “นายพัน” บวก 1 ปี การครองตำแหน่งเดิมเพิ่มจาก กฎ ก.ตร.เก่าที่ใช้อยู่ แต่กลับไปติดบันไดเลื่อนให้ระดับ “นายพล” ลดการครองตำแหน่งลง 1 ปี เพื่อปูทางบางกลุ่มขยับเข้าใกล้เก้าอี้ “ผบ.ตร.”

“กรรมการ ก.ตร.” ไม่เล่นด้วย ไม่ยอมเป็นตรายาง มีการแสดงความคิดเห็นและแสดงความเป็นห่วงวิธีการดำเนินการผ่าน ร่าง กฎ ก.ตร.ดังกล่าวโดยเฉพาะ”บิ๊กปู”พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ที่เห็นว่า การเสนอ ร่างกฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ ควรจะพิจารณาผ่านเป็นลำดับขั้นตอนก่อนที่ ก.ตร.ชุดใหญ่ น่าจะให้ อนุ ก.ตร.ชุดต่างๆกลั่นกรองรายละเอียดมาก่อน ไม่ใช่ส่งตรงมาจากสำนักงานกำลังพล เพราะหากมีการฟ้องร้อง มีการผิดพลาดขึ้นมา สำนักงานกำลังพลจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เสียง ก.ตร.ส่วนใหญ่จึงให้นำกลับไปดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง แล้วถึงนำมาเสนอ ก.ตร.ใหม่อีกครั้ง

เมื่อ ร่างกฎ ก.ตร.ฉบับชักกระไดหนี”นายพัน” ติดบันไดเลื่อนระดับ “นายพล” ถูกตีตก ไม่เป็นไปอย่างที่บางกลุ่มที่มีอำนาจต้องการและวางแผนเอาไว้ ทำให้ต้องงัดแผนแก้ไขมอบหมายให้ “จูดี้”พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. มาเป็นประธานขัดเกลากันใหม่ แต่เป้าหมายต้องดันให้ ร่าง กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ผ่านความเห็นชอบให้ได้ กลยุทธ์ที่ถูกงัดมาใช้ โดยมี”จูดี้” เป็นมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ เบื้องหน้าขอความร่วมมือ จาก รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็น กรรมการ ก.ตร. มาช่วยกันพิจารณา ร่าง กฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ ด้วยเหตุผลร่วมกันพิจารณา แต่เบื้องหลังก็เหมือนการ “ล็อบบี้” หากติชมแก้ไขกันหนำใจแล้ว ก็ให้เห็นชอบเสนอ ร่างฯดังกล่าวเข้าวงประชุม ก.ตร. ทุกอย่างก็จะสะดวกโยธิน เพราะวงประชุมทั้ง 2ชุด กรรมการ คนพิจารณา ก็คนเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนสถานะหมวกที่สวมใส่เท่านั้น

แต่เหล่า “พล.ต.อ.” ก็ไม่ยอมเป็นเพียงตรายาง!!! ในการประชุมร่วมกันของ รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ ที่”จูดี้” นั่งหัวโต๊ะ รับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น ร่างกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ที่มีการขยับตัดทอน ร่าง กฎ ก.ตร.ดังกล่าว จากครั้งที่เสนอเข้าวงประชุม ก.ตร. จาก 33-34 ข้อ เหลือเพียง 30 ข้อ รวมทั้งปรับระยะเวลาการครองตำแหน่ง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับ รองผบก. ขึ้น เป็น ผบก. จาก 6 ปี เหลือเพียง 5 ปี และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี และระดับ รองสารวัตร ขึ้นสารวัตร จาก 8 ปี มาเป็นแค่ 7 ปี ตามเดิม กันแล้ว

เสียง “รองผบ.ตร.”และ”จเรตำรวจแห่งชาติ” ก็ยังไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะสิ่งสำคัญคือระยะเวลาการครองตำแหน่งส่วนใหญ่ ก็จะชักกระได บวก 1 ระดับ “นายพัน” อยู่ ยกเว้นรองสารวัตร ขึ้น สารวัตร ที่ใช้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับระดับ “นายพล” ก็ยังขึ้นบันไดเลื่อนเหมือนเดิมที่สำคัญยังสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย อาจถูกฟ้องร้องขึ้นได้ในภายหลัง ท้ายสุด ทั้ง 6 เสียง วงประชุม จึงเลือกที่จะเซย์โน ร่าง กฎ ก.ตร.ฉบับใหม่ เหมือนอย่างที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ออกมาให้เหตุผล ร่างกฎ ก.ตร. ต้องคำนึงถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 9ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่อง (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่อง จากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ยิ่งการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี2558 ดำเนินการผ่านมาแล้วในระดับ “นายพล” ตำแหน่ง รองผบ.ตร.-ผบก. แต่พอมาถึงระดับ “นายพัน” ตำแหน่ง รองผบก.-สว. จะมาเปลี่ยนหลักเกณฑ์กลางคัน ก็จะสุ่มเสี่ยงขัดเนื้อหาข้อกฎหมาย “เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม” บรรดา “รองผบ.ตร.”และ”จเรตำรวจแห่งชาติ” ที่ต้องตีตราประทับ เลยต้องโดดหนีกันเป็นแถว สุดท้ายกลุ่มที่พยายามจะผลักดัน กฎ ก.ตร.ฉบับชักกระไดหนีระดับ”นายพัน” และติดบันไดเลื่อนระดับ “นายพล” ก็ต้องจำใจกัดฟันกรอดๆ เพราะปลาไม่ฮุบเหยื่อ ต้องยอมจำนนใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ “นายพัน” ตำแหน่ง รองผบก.-สว. ประจำปี 2549 ไปก่อน2558 ด้วย กฎ ก.ตร.ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2559 ไปก่อน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น