xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กอ๊อด” เฮ ไม่ต้องคืนหุ้น “เวิลด์แก๊ส” ให้เมีย “ชัจจ์” ศาลฎีกาชี้เป็นเจ้าของโดยชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

, พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. (แฟ้มภาพ)
 
MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ไม่ต้องคืนหุ้น “เวิลด์แก๊ส” จำนวน 10 ล้านหุ้น ให้เมีย “ชัจจ์ กุลดิลก” อดีต รมช.มหาดไทย ชี้ พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนัก “บิ๊กอ๊อด” เป็นเจ้าของหุ้นดังกล่าวโดยชอบ

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (22 ธ.ค.) ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ 830/2553 ที่ นางวิมลรัตน์ กุลดิลก ภรรยา พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีต รมช.มหาดไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีต รมช.พาณิชย์ ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (โจทก์ถอนฟ้องระหว่างการพิจารณา), พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร., บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด (ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เวิลด์แก๊ส (จำกัด) และพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ในความผิดเรื่อง เพิกถอนการโอน

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2551 นายสุริยา จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 4 รวม 10,199,600 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ให้กับ นางวิมลรัตน์ โจทก์ เพื่อชำระหนี้บางส่วน โดย นายธรรมนูญ ทองลือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนถือหุ้นของนายสุริยา ได้โอนหุ้นผ่านตัวแทนของจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่งให้แก่โจทก์ แต่ต่อมา นายสุริยา จำเลยที่ 1 หลบหนีไปต่างประเทศ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสุริยา, นายธรรมนูญ และบริษัท แอสเซ็ทฯ โจทก์จึงยังไม่ได้จดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งนายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ได้นำหุ้นจำนวนดังกล่าว ไปขายให้กับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 3 ในราคา 9 แสนบาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่แท้จริงที่มีราคาถึง 101,996,000 บาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทั่งพวกจำเลยได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นแล้วตั้งกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้มีการโอนหุ้นบางส่วนให้จำเลยที่ 5 - 10 รายละ 2 พันหุ้น ดังนั้น จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 4 ระหว่างกลุ่มจำเลยและขอให้พิพากษาว่าหุ้น จำนวน 10,199,600 หุ้น มูลค่า 101,996,000 บาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้ง 10 ราย เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายทดแทนกับโจทก์ จำนวน 407,999,694 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีด้วย

ขณะที่จำเลยต่อสู้ว่า นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวแทนถือหุ้นของนายสุริยา จำเลยที่ 1 และไม่เคยรู้จัก หรือมีนิติสัมพันธ์กัน แต่ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นจากนางวันดี โตเจริญ เจ้าของหุ้นเดิม มาจำนวน 99,940 หุ้น โดยการรับโอนหุ้นพิพาทนั้นได้เสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและแจ้งให้บริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 4 ทราบ เพื่อแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2554 ให้เพิกถอนการโอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ ระหว่างนายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 กับ พล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 รวม 10,199,600 หุ้น, เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 กับ นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 5 รวม 2,000 หุ้น และเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 6 - 10 รายละ 2,000 หุ้น (รวม 10,000 หุ้น) โดยให้หุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวิมลรัตน์ โจทก์ และ ห้าม นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 ร่วมทั้งจำเลยที่ 5 - 10 เกี่ยวข้องกับหุ้นดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 - 3 และจำเลยที่ 5 - 10 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ ขณะที่โจทก์ยื่นฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ ประชุมตรวจสำนวนกันแล้ว รับฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2550 นางวันดี โตเจริญ ได้โอนหุ้นให้ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ต่อมามีการเพิ่มทุนของบริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 4 จำนวน 20 ล้านหุ้น ซึ่งนายธรรมนูญได้เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 10,199,600 หุ้น และมีผู้ถือหุ้นอีก 6 คน แต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2551 นายสุริยา จำเลยที่ 1 ลูกหนี้โจทก์หลบหนีไปต่างประเทศ ต่อมาปีเมื่อปี พ.ศ. 2552 ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์ นายสุริยา, นายธรรมนูญ และ บริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 1 - 2 และ 4 ซึ่งระหว่างนั้นมีการโอนหุ้นพิพาทดังกล่าวในกลุ่มของจำเลย ซึ่ง นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ว่าลายมือชื่อในใบโอนหุ้นเป็นเอกสารปลอมนั้น ศาลฎีกาฯ เห็นว่า นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่เคยโอนหุ้นพิพาทตามใบโอนหุ้นให้แก่นายสุวิทย์ สัจจวิทย์ และไม่เคยได้รับชำระค่าหุ้น รวมทั้งไม่เคยรู้จักกับนายสุวิทย์ และ นายสมบัติ สร้อยเงิน พยานในการโอนหุ้น และนายทะเบียนที่ลงนามรับรองในใบโอนหุ้น ซึ่งเป็นการลงนามรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ใบโอนหุ้นจึงเป็นเอกสารปลอม คำให้การของนายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์จึงชัดแจ้งอยู่ในตัว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับลายมือชื่อผู้โอนในใบโอนหุ้นว่าเป็นลายมือชื่อของ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 หรือไม่จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ในใบโอนหุ้นแตกต่างกันเล็กน้อยกับเอกสารอื่น ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่สามารถลงลายมือชื่อได้เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อยุติว่าลายมือชื่อของ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้โอนในใบหุ้นเป็นลายมือชื่อปลอมนั้น เห็นว่า นางวิมลรัตน์ โจทก์และ พล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 ต่างอ้างและนำสืบยันกันอยู่ว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาท แต่เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบโดยตลอดแล้ว พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ไม่ได้โอนหุ้นให้แก่นายสุวิทย์ เพื่อที่นายสุวิทย์จะโอนหุ้นพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำสั่งของ นายสุริยา จำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1

นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่มีพยานใดมานำสืบแสดงให้เห็นว่า นายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในใบโอนหุ้น และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของนายธรรมนูญ จำเลยที่ 2 ในเอกสารต่าง ๆ ที่คู่ความนำสืบแล้วปรากฏว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งหาก นายสุริยา จำเลยที่ 1 จะโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ก็แค่นำใบโอนหุ้นที่นายธรรมนูญจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อโอนลอยไว้มากรอกชื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาผู้รับโอนก็ย่อมสมบูรณ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 2 ทำใบโอนหุ้นพิพาทให้แก่นายสุวิทย์ทอดหนึ่งก่อนแล้วจึงให้นายสุวิทย์โอนให้โจทก์ ข้ออ้างของโจทก์เรื่องข้อตกลงโอนหุ้นพิพาทคืนให้นายสุริยา จำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุผลสมควรให้รับฟัง เพราะนายสุริยา จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีชื่อเป็นผู้บริหารของบริษัท แอสเซ็ทฯ จำเลยที่ 4 หรือมีความยุ่งยากที่จะกลับคืนสภาพเดิมแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น