ศาลฎีกาพิพากษายืนไม่รับฟ้องคดี “ทักษิณ” ฟ้อง “สุเทพ” กรณีให้สัมภาษณ์ระบุ “ทักษิณ” อยากเป็นประธานาธิบดี เมื่อปี 52 ชี้เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม โจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องได้รับการตรวจสอบสูงกว่าคนทั่วไป และคำพูดของจำเลยสืบเนื่องจากการกระทำของโจทก์เอง จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาท
ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (8 ต.ค.) ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.425/2552 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความเป็นโจทก์ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 3-5 ก.พ. 2552 นายสุเทพ จำเลยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในที่ประชุมสภา และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ไม่ยอมแพ้ พยายามต่อสู้ไปเรื่อยๆ ท่านก็บอกแล้วว่า วันหนึ่งท่านจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี เราก็ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวโดยบริสุทธิ์ใจเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบระบอบประธานาธิบดี และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ด้วย
คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำเบิกความของนายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ที่เข้าเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลความผิด ให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น และโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาเพื่อสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะที่สมัครใจเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ มีทั้งอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ และต้องรับผิดชอบจากการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบสูงกว่ามาตรฐานของบุคคลทั่วไป ทั้งถ้อยคำของจำเลยที่ให้สัมภาษณ์ก็มิได้ปรุงแต่งข้อเท็จจริง แต่มีผลต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมาโดยตลอดจากการกระทำของโจทก์เองและกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุน อาทิ โจทก์เคยพูดต่อข้าราชการ กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และกลุ่มคนขับแท็กซี่ว่า ผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระ และศาล รวมทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เคยมีความเห็นว่าโจทก์ละเมิดรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ของจำเลยจึงเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฟ้องโจทก์ไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน