xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายกฟ้อง “จุติ ไกรฤกษ์” ไม่ผิดกล่าวหา “เมียหมอเลี้ยบ” เปิดบอดี้เชพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ฎีกายกฟ้อง “จุติ ไกรฤกษ์” ไม่ผิดหมิ่นประมาท อภิปรายในสภา “เมียหมอเลี้ยบ” เปิดบอดี้เชพไม่เสียภาษี ชี้เนื้อหาไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ที่ห้องพิจารณา 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (14 พ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.1691/2546 ที่ บริษัท บอดี้เชพ จำกัด โดยนางปราณี สืบวงศ์ลี ภรรยา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจุติ ไกรฤกษ์ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

โจทก์ฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2546 จำเลยได้กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหมิ่นประมาทโจทก์ว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2545 สามีของโจทก์ ได้ออกกฎหมายเอื้ออำนวยให้โจทก์ซึ่งเปิดสถานบริการอาบอบนวดไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ความจริงแล้วสามีของโจทก์ไม่เคยออกกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้โจทก์ไม่ ต้องเสียภาษี รวมทั้งโจทก์ก็ไม่เคยเปิดสถานบริการอาบอบนวดอย่างที่จำเลยพูดอภิปราย โดยโจทก์ทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานเสริมความงามและขายอุปกรณ์ลดน้ำหนักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การพูดดังกล่าวทำให้ผู้ฟังการอภิปรายซึ่งเป็นประชาชนเข้าใจผิด คิดว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เหตุเกิดแขวงและเขตดุสิต กทม. จำเลยให้การปฎิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2548 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2553 ยืนตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า แม้ถ้อยคำที่จำเลยอภิปรายจะไม่ได้กล่าวถึงชื่อบริษัทบอดี้เซพฯ และชื่อโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แต่บริษัทที่จำเลยยกมาเป็นตัวอย่างในการอภิปรายนั้น ทั้งชื่อของบริษัท ชื่อกรรมการบริษัท และหมายเลขในการจดทะเบียนบริษัทคล้ายกับบริษัทของโจทก์ ต่างกันตรงที่จำเลยไม่ได้ระบุตัวเลขให้ครบถ้วน อีกทั้งตามกฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดให้คู่สมรสของรัฐมนตรีต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย ซึ่งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินระบุว่านางปราณีเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทดังกล่าว จำเลยมีเจตนาอภิปรายให้ผู้รับฟังเข้าใจได้ว่า นพ.สุรพงษ์ ผลักดันกรมสรรพสามิตให้ออกประกาศงดเว้นการเก็บภาษีจากกิจการอาบอบนวดเพื่อสุขภาพและความงามของโจทก์ เมื่อวินิจฉัยถ้อยคำอภิปรายของจำเลย ประกอบกับสถานที่ เวลาและโอกาสแล้วเห็นว่าข้อความโดยรวมไม่ได้พาดพิงโจทก์ทำนองว่าได้รับประโยชน์จากการผลักดันกฎหมายดังกล่าว

แต่การอภิปรายของจำเลยสรุปความหมายของสถานอาบอบนวดไว้ 2 ประเภท คือ 1. สถานประกอบการที่มีตู้กระจก อ่างอาบน้ำ รูปและห้องนอน ที่ส่อในทางค้าประเวณี ที่ต้องเสียภาษี และ 2. สถานประกอบการในรูปแบบเสริมความงาม ซึ่งได้รับการยกเว้นเสียภาษี เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระในถ้อยคำอภิปรายของจำเลยแล้วไม่ได้ใส่ความว่าโจทก์ประกอบกิจการสถานบริการอาบอบนวดตามประเภท 1 ที่จะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ถ้อยคำอภิปรายของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 เมื่อจำเลยไม่ผิดหมิ่นประมาท จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาอื่นอีก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้องจำเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น