ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่อัยการจังหวัดนาทวียื่นฟ้อง พล.ท.มนัส พร้อมพวกรวม 88 นาย ตามความผิด พ.ร.บ. 16 ข้อหา หลังร่วมกันบังคับใช้แรงงานต่างด้าวจนมีผู้เสียชีวิต โดยใช้เวลาตรวจพยานหลักฐาน 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-13 พ.ย.นี้ ด้าน “ปวีณ” หัวหน้าพนักงานสอบสวนเดินทางมาด้วย ยันลาออกจากราชการแล้วแต่ขอทำหน้าที่คดีนี้ให้ดีที่สุด แต่เสียดายอยากรับใช้ประชาชนอยู่
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา หมายเลขดำ ที่ คม.27/2558 ที่พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยลำดับที่ 54, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน รวม 88 ราย เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวม 16 ข้อหา มาดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ภายหลังจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้โอนคดีมาพิจารณาในศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา
คดีนี้จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันหลอกลวง ขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮีนจา จากสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ว่าสามารถพามาทำงานที่ประเทศมาเลเซียได้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมไปทำงานตามที่ถูกชักชวน แต่ผู้เสียหายบางคนก็ถูกใช้กำลังบังคับ อุ้มพา หรือใช้ปืนข่มขู่ ซึ่งผู้เสียหายบางคน เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ด้วย ก่อนนำผู้เสียหายไปยังบ้านพักใกล้ทะเลอันดามันเพื่อรวบรวมนำลงเรือเล็กไปส่งขึ้นเรือใหญ่ โดยมีผู้ควบคุมผู้เสียหายไม่ให้หลบหนี พร้อมจำกัดอาหารและน้ำดื่ม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายบางคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นเดือน ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2558
โดยวันนี้เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว พล.ท.มนัส คงแป้น กับพวกจำเลยมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยใช้รถบัสเรือนจำ จำนวน 2 คัน
ขณะที่การรักษาความปลอดภัยนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโด กองปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รปภ.ของศาลอาญา มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ทั้งภายในอาคารศาลอาญาและบริเวณโดยรอบอาคาร รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วดูแลบริเวณถนนรอบพื้นที่ และได้มีการปิดพื้นที่ด้านหลังศาลอาญา บริเวณห้องควบคุมตัวจำเลย และศาลอาญา ไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลย รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าไปภายในห้องพิจารณา ที่ชั้น 7 ห้อง 704 บนอาคารศาลอาญา แต่ให้ดูจากโทรทัศน์วงจรปิดที่จะถ่ายทอดการตรวจพยานหลักฐานจากห้องพิจารณาคดีมาบริเวณชั้น 2 ของศาลอาญา
ทั้งนี้ การตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ศาลได้กำหนดวันนัดทั้งหมด 4 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 13 พ.ย. ซึ่งในวันที่ 11 และ 12 พ.ย. จะไม่มีการเบิกตัวจำเลยทั้ง 88 มายังศาลอาญาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการพิจารณาในส่วนเอกสารระหว่างอัยการ และทนายความ
สำหรับคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาศาลออกหมายจับผู้ต้องหารวม 153 หมายจับ จับตัวได้แล้ว 91 คน ส่งฟ้องแล้ว 88 คน ส่วนอีก 3 คน อยู่ระหว่างฝากขัง ซึ่งอัยการเตรียมสำนวนส่งฟ้องให้ทันกำหนดฝากขัง 7 ผัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการจังหวัดนาทวีได้ยื่นฟ้องคดีค้าโรฮีนจาดังกล่าวต่อศาลจังหวัดนาทวี วันที่ 24 ก.ค. 2558 แล้ว ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. อัยการจังหวัดนาทวี ได้ยื่นคำร้องถึงประธานศาลฎีกา ซึ่งมีอำนาจพิจารณาสั่งโอนคดี เพื่อขออนุญาตโอนคดีมาพิจารณาที่ศาลอาญา ด้วยเหตุผล 1. คดีเกี่ยวพันกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2. คดีมีเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนมากเกี่ยวข้องกระทำผิด 3. คดีอยู่ในความสนใจของประชาชน และนานาชาติ 4. พยานบางส่วนถูกข่มขู่ 5. พิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนาทวีคับแคบอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนจำเลยและทนายความที่ร่วมกระบวนพิจารณาคดี โดยวันที่ 29 ก.ย. 58 นายดิเรก อิงคนินันท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาขณะนั้น ได้มีคำสั่งอนุญาตให้โอนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจามาที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
ด้าน พล.ต.ต.ตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้เดินทางมายังศาลอาญาด้วย เปิดเผยว่า ตนมาในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและยืนยันว่ายื่นหนังสือลาออกจากราชการเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายกรณีการถูกโยกย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ และในระหว่างทำคดีได้ถูกข่มขู่จากเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ แต่ส่วนตัวแล้ว ยังอยากรับราชการตำรวจ รับใช้ประชาชน และการเดินทางมาในวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด