MGR Online - ศาลอาญานัดตรวจหลักฐานครั้งแรก “พล.ท.มนัส” อดีตผู้ทรงคุณวุฒิทหารบก กับพวก 88 ราย เอี่ยวค้ามนุษย์โรฮีนจา “โฆษกอัยการ” ปัด พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าพนักงานสอบสวนลาออก ไม่กระทบฟ้องคดีค้ามนุษย์ ระบุ พล.ต.ต.ปวีณเป็นพยานปากสำคัญ
ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (10 พ.ย.) ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ นัดตรวจพยานกลักฐานครั้งแรก คดีหมายเลขดำ คม.27/2558, คม.28/2558 และ คม.29/2558 ที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรจง หรือจง ปองพล จำเลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีต นายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยที่ 1 - 88 ซึ่งอัยการได้ทยอยฟ้องจำเลยตั้งแต่ เมื่อเดือน ก.ค.58 ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546 ภายหลังจากที่ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 58 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และพลเรือน รวม 88 ราย ที่ตกเป็นจำเลยคดีค้ามนุษย์ มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังศาลอาญา เพื่อทำการตรวจพยานหลักฐานครั้งแรก
ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลได้เริ่มตรวจพยานหลักฐาน โดยไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลย รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปภายในห้องพิจารณา แต่ได้ถ่ายทอดสดการตรวจพยานหลักฐานจากห้องพิจารณาคดี ผ่านระบบทีวีวงจรปิด ลงมาจุดรับชมวงจรปิดที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารเพื่อสื่อมวลชน และญาติได้รับทราบกระบวนการ
ขณะที่ศาลอ่าน สรุปคำฟ้องของอัยการโจทก์ ให้จำเลยทั้ง 88 คนฟังเพื่อสอบคำให้การว่า ระหว่างต้นเดือน ม.ค. 54 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 58 ต่อเนื่องกัน มีขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ชักชวนหลอกผู้เสียหายชาวบังกลาเทศ ชาวโรฮีนจา หรือโรฮิงญา จากประเทศบังกลาเทศ และสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 80 คนเพื่อมาทำงาน โดยมีการชักชวนให้หลงเชื่อว่าจะพาเดินทางมายังประเทศไทยแล้วจะจัดส่งไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลอกผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานสูงถึง 60,000 บาท โดยมีการเดินทางลำเลียงขนผู้เสียหายกลางทะเลทั้งในเขตน่านน้ำต่างประเทศและประเทศไทย ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกมาบางรายอายุไม่เกิน 15 ปี และหากมีการขัดขืนจะถูกใช้กำลังบังคับ โดยผู้คุมที่มีอาวุธปืน มีด ไม้ และแส้ ซึ่งในการควบคุมนั้นหากพบว่าคนใดมีเบอร์โทรศัพท์ญาติติดตัวมาด้วยก็จะเก็บเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ซึ่งจะมีการทรมานผู้เสียหายให้เกิดเสียงร้องได้ยินเข้าไปในโทรศัพท์เพื่อให้ญาติของผู้เสียหายได้ยินและส่งเงินมาเรียกค่าไถ่ด้วย
โดยการลำเลียงจะมีการนำตัวผู้เสียหายไปขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง ลำเลียง ผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อไปยัง อ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา แล้วพาผู้เสียหายเดินเท้าไปยังเทือกเขาแก้วซึ่งสภาพความเป็นอยู่เป็นไปอย่างแออัด ผู้เสียหายถูกบังคับให้นอนสลับหัวเท้า และมีการทรมานผู้เสียหายเพื่อใช้ในการเรียกค่าไถ่ กรณีที่ไม่มีญาติมาไถ่ตัวจะมีการขายผู้เสียหายที่ถูกหลอก รายละ 60,000-70,000 บาท ระหว่างการควบคุมตัวนั้นมีการจำกัดอาหารและน้ำดื่ม ส่งผล มีผู้เสียหายหลายรายที่เสียชีวิต
จำเลยทั้ง 88 คน บางคนนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศท้องถิ่น เป็นพนักงานราชการฝ่ายปกครอง เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองทัพบก และพยาบาลวิชาชีพ ได้ร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายฐานทำร้ายร่างกาย, แรงงานมนุษย์ และเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นการกระทำความผิดมากกว่า 1 รัฐต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ลักษณะเอาแรงงานมาเป็นทาส ลักพาตัวผู้เสียหายไม่เกิน 15 ปีข่มขู่ ทารุณ บังคับข่มขืนใจ โดยจำเลยทั้ง 88 คนมีเจตนาที่จะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และนำตัวผู้เสียหายอีกกว่า 80 คน เดินทางไปยังแคมป์กักกัน เพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยวส่งผลให้มีคนตาย รวมทั้งมีการนำศพผู้เสียหายไปฝังไว้บนเทือกเขาแก้ว และจำเลยยังได้ร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบขนาดโดยไม่มีใบอนุญาต และพกพาไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กระทำการอันเป็นการอำนวยความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งจำเลยทั้งหมดมีการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงขอให้ศาลลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 13, 52, 53/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 มาตรา 3, 5, 6, 8, 25 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 62, 64 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320, 371
ขณะที่การสอบคำให้การจำเลย ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 88 คนฟัง พร้อมมีล่ามแปลภาษาด้วย ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ด้านอัยการโจทก์ได้เสนอพยานเอกสารหลักฐานต่อศาล ประกอบด้วย พยานวัตถุเป็นซีดี 12 แผ่น, ผังแสดงความสัมพันธ์ทางการเงิน, แผนผังแคมป์, แผนที่แสดงการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามา, ชาร์ตแสดงเครือข่ายการค้ามนุษย์ในด้านการเงินซึ่งจะโยงไปยังคดีที่อยู่ในการดูแลของ ปปง. ภาพรวมการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องหา และพยานเอกสารอื่นๆ รวม 15 ลัง 70 แฟ้ม
ส่วนจำเลยบางคนยังไม่มีทนายความ ศาลจึงได้กำชับให้ฝ่ายจำเลยจัดเตรียมบัญชีพยาน แนวทางการต่อสู้ และความเกี่ยวเนื่องของพยานที่จะนำสืบ ส่งให้ศาลพิจารณาภายในกำหนดนัดตรวจหลักฐานวันที่ 13 พ.ย.นี้
ขณะที่ศาลเห็นว่าคดีนี้มีเอกสารพยานหลักฐานจำนวนมาก จึงให้คู่ความสามารถ นำสืบพยานล่วงหน้าได้โดยที่ไม่ต้องรอว่าจะตรวจพยานหลักฐานเสร็จแล้วหรือไม่ หรือจะนำตัวจำเลยที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ เข้าสู่การพิจารณาเมื่อใดโดยศาลพร้อมที่จะเริ่มการสืบพยานล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.นี้ต่อเนื่องกันตามความจำเป็นของคู่ความที่จะตกลงกัน เหตุเพราะคดีมีพยานหลักฐานมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากมีการนำสืบพยานตามกระบวนการ ก็อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 200 นัด หากมีการสืบต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นผลดีต่อตัวจำเลยเอง
ด้านทนายความของนายมาเลย์ โต๊ะดิน จำเลยที่ 24 ได้แถลงต่อศาลเพื่อจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายมาเลย์ เนื่องจากขณะถูกขังที่เรือนจำนาทวี จำเลยมีอาการป่วยถึงขั้นต้องปั้มหัวใจ พร้อมระบุว่าหากไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ โดยจำเลยพร้อมจะเข้าร่วมการสืบพยานทุกครั้งตามที่ศาลนัด
โดยศาลได้แจ้งกับทนายความจำเลยที่ 24 ว่า การให้ปล่อยชั่วคราวเป็นอำนาจพิจารณาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งจำเลยทุกคนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ หากคดีเริ่มสืบพยานไปแล้วบางส่วน อธิบดีพิพากษาศาลอาญาจะนำถ้อยคำ มาประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ขณะที่ศาลแจ้งกับจำเลยทุกคนด้วยว่า คดีนี้มีการฟ้องข้อหาหนัก การปล่อยชั่วคราวนั้นจะต้องมีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และรองอธิบดีฯ เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นหากจำเลยคนใดประสงค์ขอปล่อยชั่วคราว ให้ยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลประกอบเป็นรายๆไป ซึ่งศาลจะพิจารณาในภายหลัง
ต่อมาเวลา 13.30 น. ศาลได้ดำเนินกระบวนการตรวจหลักฐานต่อจากช่วงเช้า โดยศาลถามย้ำจำเลยที่ยังไม่มีทนายความซึ่งศาลจะจัดหาให้ เช่นเดียวกับการจัดหาเรื่องล่ามแปลภาษาพม่าและบังกลาเทศให้พร้อม ส่วนที่อัยการโจทก์ ได้ยื่นคำร้องขอรวมสำนวนคดีค้ามนุษย์ คม.27/2558 ที่นายบรรจง, พล.ท.มนัส กับพวกรวม 72 รายเป็นจำเลย, คม.28/2558 ที่นายธัชพล หรือบังเป้า หวังเบ็ญหมุดหรือหวังเบ็ญมูดกับพวกรวม 2 รายเป็นจำเลย และ คม.29/2558 ที่นางสายใจ มูเก็ม กับพวกรวม 14 รายเป็นจำเลย พิจารณาคดีเป็นสำนวนเดียวกันนั้น ศาลเห็นว่า หากให้รวมสำนวนจะทำให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วจึงอนุญาต และจำเลยทั้งหมดไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้รวมสำนวนคดีโดยให้คดีดำ คม.27/2558 ของนายบรรจงกับพวกเป็นหลัก
ส่วนที่อัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานล่วงหน้าที่เป็นชาวพม่า 3 ปากนั้น ศาลให้ใช้เวลา 9 นัด โดยเริ่มสืบพยานล่วงหน้าในวันที่ 17 พ.ย.นี้เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นซึ่งให้เบิกตัวจำเลยทั้ง 88 รายมาฟังการสืบพยานด้วย ทั้งนี้ศาลได้นัดประชุมเพื่อตรวจเอกสารหลักฐานเฉพาะคู่ความอัยการและทนายความจำเลยทั้งหมดอีกครั้งโดยไม่ต้องนำตัวจำเลยมาศาลในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ และนัดคู่ความเพื่อตรวจความพร้อมการจัดบัญชีพยานหลักฐานทั้งหมดอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. คดีนี้จำเลยทั้ง 88 รายไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงต้องพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การนำตัวจำเลยสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮีนจามาศาลอาญาในวันนี้ มีการจัดกำลังหน่วยคอมมานโด กองบังคับการกองปราบปราม, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน และ สน.ใกล้เคียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล ดูแลความเรียบร้อยทั้งภายในอาคารศาลอาญา และโดยรอบอาคาร รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ดูแลบริเวณถนนรอบพื้นที่ โดยศาลอาญา ได้ปิดพื้นที่บริเวณด้านหลังศาลอาญาที่เป็นทางเข้าห้องควบคุมตัวจำเลยใต้ถุนศาลด้วย
อย่างไรก็ดี การตรวจหลักฐานวันนี้ศาลได้กำชับให้ทนายความจำเลย และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าเลื่อนการสืบพยานโดยไม่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากจะกระทบกับจำเลยคนอื่นๆ เนื่องจากคดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก
ขณะที่ในวันสืบพยาน ศาลไม่อนุญาตให้ญาติจำเลย รวมถึงสื่อมวลชน และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เข้าไปบนห้องพิจารณาคดี เพื่อป้องกันข้อร้องเรียน กรณีมีพยานที่ยังไม่ได้เข้าเบิกความ เข้ามารับทราบการเบิกความก่อน รวมทั้งไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และหากพบว่ามีการนำภาพในห้องพิจารณาคดีและบัลลังก์ศาล ไปเผยแพร่ ศาลจะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างเฉียบขาด โดยศาลจะจัดพื้นที่ ส่วนที่ให้ญาติและสื่อมวลชนติดตามกระบวนพิจารณา
โดยวันนี้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาซึ่งได้ยื่นลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางมายังศาลอาญา พร้อมกล่าวว่า ตนมาในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน การยื่นหนังสือลาออกจากราชการมีจุดยืนให้เหตุผลว่า เกรงกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากกรณีการถูกโยกย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ และในระหว่างทำคดีได้ถูกข่มขู่จากเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ ส่วนตัวแล้วยังอยากรับราชการตำรวจ รับใช้ประชาชน การเดินทางมาในวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา กล่าวด้วยว่า ตนยื่นใบลาออกจากราชการต่อผู้บัญชาการตำรวจภาค 8 ซึ่งรับทราบเรื่องแล้ว ในการลาออกตนได้ปรึกษากับทางครอบครัวแล้วจึงตัดสินใจ การที่ตนเข้ามาทำคดีนี้ก็หวังว่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นกุศลที่จะต้องทำร่วมกันไปไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่คิดว่าจะขอรับสิ่งตอบแทนเพื่อทำหน้าที่ในส่วนนี้ ตนรับราชการตำรวจมาทั้งชีวิตในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และก็เป็นตัวแทนของเพื่อนข้าราชการตำรวจทั้งหลาย เราทำอย่างซื่อสัตย์ เป็นเกียรติยศ ศักดิ์ศรี เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข และประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัย
“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทั้งประชาชน ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สื่อมวลชนทั้งหลายที่ได้ติดตามเสนอข่าวคดีค้ามนุษย์โรฮีนจามาอย่างต่อเนื่อง และก็ได้ให้กำลังใจคณะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคณะพนักงานสอบสวน คณะอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ให้ข้อมูล จนกระทั้งประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีด้วยความร่วมมือในส่วนต่างๆ ทั้งหมดเนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ” พล.ต.ต.ปวีณ อดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา กล่าว และว่า ส่วนตัวมีความภูมิใจเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งที่ได้ทำคดีนี้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เนื่องจากขบวนการอันโหดเหี้ยม โหดร้ายทารุณ และประชาคมโลกเขารังเกียจการค้ามนุษย์ สังคมรับไม่ได้
ส่วนคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธนั้นก็เป็นวิธีการต่อสู้ของจำเลยที่ต้องให้การในลักษณะแบบนี้ จึงไม่เกินความคาดหมายอะไร แต่เราเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่คณะทำงานได้ร่วมทำกันมา ขณะที่การดำเนินคดีค้ามนุษย์นั้นได้แยกส่วนจากคดีการฟอกเงิน โดยคดีค้ามนุษย์นั้นมีการออกหมายจับผู้ต้องหารวม 153 ราย โดยมีผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ถูกออกหมายจับแต่เสียชีวิตแล้วก่อนหน้านี้ 2 ราย มีพยานร่วม 500 ปาก ส่วนคดีฟอกเงินนั้นมีผู้ต้องหา 80 กว่าราย ซึ่งบางคนถูกดำเนินคดีอาญาค้ามนุษย์ด้วย แต่พวกผู้คุมแคมป์ รับจ้างเรือที่จะได้รับค่าจ้างรายวันเหล่านี้จะไม่โดนคดีฟอกเงิน แต่เกี่ยวข้องในส่วนของเรื่องค้ามนุษย์
“การตรากตรำ อดทน เสียสละ เป็นความกล้าหาญเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน เพื่อมวลมนุษยชาติ คณะทำงานเราร่วมกันพิจารณาอย่างใกล้ชิด ขณะนี้พยานหลักฐานถึงมือส่งให้กับทางอัยการสูงสุดเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว” พล.ต.ต.ปวีณระบุ
ด้าน ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ได้ยื่นลาออกภายหลังถูกโยกย้ายเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ว่า ไม่มีผลกระทบต่อคดีในการจัดเตรียมพยานหลักฐานที่จะนำสืบคดีค้ามนุษย์ที่อัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยไปแล้ว 88 คน เพราะ พล.ต.ต.ปวีณยังมีความเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แม้ พล.ต.ต.ปวีณลาออกเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ก็ไม่ได้ขาดจากการเป็นพยานในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่อัยการได้จัดวางแนวทางนำสืบพยานที่จะให้ พล.ต.ต.ปวีณ เป็นพยานคนแรกเบิกความเปิดประเด็นทางคดี ที่ได้เกี่ยวข้องกับการรวบรวมพยานหลักฐาน ประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่ง พล.ต.ต.ปวีณก็ถือได้ว่าเป็นพยานสำคัญคนหนึ่ง
เมื่อถามว่า ตามแนวทางนำสืบพยานของอัยการคดีค้ามนุษย์นี้ มีพยานบุคคล และพยานประกอบมากน้อยเพียงใด ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า พยานต่างๆ ที่อัยการเตรียมยื่นเสนอต่อศาล ประมาณ 1,700 อันดับ ซึ่งประกอบด้วยพยานบุคคลกว่า 400 ปาก และพยานวัตถุ พยานเอกสาร ส่วนศาลจะให้อัยการนำสืบพยานทั้งหมดหรือไม่เป็นดุลพินิจ ขณะที่คณะทำงานคดีค้ามนุษย์ที่รับผิดชอบคดี ก็ต้องพิจารณาความความเหมาะสมจำเป็นด้วย ส่วนที่จำเลยจะยื่นขอประกันตัวนั้น เท่าที่ทราบในการยื่นฟ้องคดีครั้งแรกอัยการก็ได้คัดค้านการให้ประกันจำเลย ทั้งนี้สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาต่อไปว่าจะอนุญาตให้ประกันหรือไม่ หรือจะมีการกำหนดเงื่อนไขกรอบปฏิบัติการประกันตัวอย่างไร และหากจะสืบพยานล่วงหน้าอัยการก็มีความพร้อม