MGR Online - อัยการแถลงศาล นำ พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าพนักงานสอบสวนเข้าร่วมเป็นพยานโจทก์คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ศาลนัดสืบพยานนัดแรก 15 มี.ค.ปีหน้า
ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ย.นี้ ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมวันที่ 4 คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา หมายเลขดำ คม. 27, 28, 29/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล, นายบรรจง หรือจง ปองพล กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยรวม 88 คน รวม 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546 โดยอัยการได้ทยอยฟ้องจำเลยตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 2558 ภายหลังจากที่ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา
กรณีเมื่อระหว่างต้นเดือน ม.ค.54 - 1 พ.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน มีขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ชักชวนหลอกผู้เสียหายชาวบังกลาเทศ ชาวโรฮีนจา หรือโรฮิงญา จากประเทศบังกลาเทศ และสาธารณรัฐสหภาพพม่า จำนวน 80 คนเพื่อมาทำงาน โดยมีการชักชวนผู้เสียหายให้หลงเชื่อว่าจะพาเดินทางมายังประเทศไทยแล้วจะจัดส่งไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะได้รับเงินค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาท โดยลักลอบขนผู้เสียหายจากกลางทะเลทั้งในเขตน่านน้ำต่างประเทศและประเทศไทย ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกมานั้นบางรายอายุไม่เกิน 15 ปี และหากมีการขัดขืนจะถูกใช้กำลังบังคับจากผู้คุมที่มีอาวุธปืน มีด ไม้ และแส้ และหากพบว่าผู้เสียหายคนใดมีเบอร์โทรศัพท์ญาติมาก็จะเก็บเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อใช้เรียกค่าไถ่ พร้อมกับทรมานผู้เสียหายจนส่งเสียงร้องได้ยินเข้าไปในโทรศัพท์เพื่อให้ญาติส่งเงินมาเรียกค่าไถ่ด้วย
ส่วนการลำเลียงผู้เสียหายจะพาไปขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง ผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อไปยัง อ.ปาร์ดังเบซา จ.สงขลา แล้วพาผู้เสียหายเดินเท้าไปยังเทือกเขาแก้วเข้าแคมป์ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ถูกบังคับให้นอนสลับหัวเท้า และมีการทรมานผู้เสียหายเพื่อใช้ในการเรียกค่าไถ่ หากไม่มีญาติมาไถ่ตัวก็จะขายผู้เสียหายรายละ 60,000-70,000 บาท ซึ่งระหว่างการควบคุมตัวนั้นมีการจำกัดอาหารและน้ำดื่ม ส่งผลมีผู้เสียหายหลายรายที่เสียชีวิต โจทก์จึงขอให้ศาลลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 13, 52, 53/1, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 มาตรา 3, 5, 6, 8, 25, พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 62, 64 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320, 371
อัยการโจทก์แถลงต่อศาลขอนำ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภ.8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้เข้าร่วมเป็นพยานโจทก์ และการจัดเตรียมพยานหลักฐาน ตลอดจนประสานงานกับบุคคลซึ่งเป็นพยานโจทก์เข้าเบิกความต่อศาลด้วย
ศาลสอบถาม พล.ต.ต.ปวีณแล้วไม่ขัดข้อง จึงอนุญาตตามที่อัยการโจทก์ร้องขอ และจากการประชุมคดีและตรวจพยานหลักฐาน เมื่อวันที่ 11-12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทนายจำเลยทั้ง 88 คนได้ตรวจสอบเอกสารแล้วสามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานรวม 92 ปาก เช่น แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพ เจ้าพนักงานตรวจดีเอ็นเอศพ เจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธปืน และอื่นๆ ฝ่ายโจทก์จึงขออ้างส่งเอกสารแทนการสืบพยานที่รับข้อเท็จจริงเพิ่มอีก ทำให้มีเอกสารที่โจทก์อ้างส่งรวมทั้งหมด 1135 ฉบับ ทั้งนี้ ศาลเห็นควรนัดสืบพยานโจทก์ล่วงหน้าในวันที่ 24-25 ธ.ค. 2558 วันที่ 7-8 ม.ค. 2559 และวันที่ 12-15 ม.ค. 2559 เวลา 09.00 น.-16.30 น. เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นชาวต่างชาติ 3 ราย สัญชาติพม่า และบังกลาเทศ และนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 15-18 มี.ค. 2559 เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยช่วงเช้าวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว พล.ท.มนัส คงแป้น กับพวกจำเลยทั้งหมดทั้งชาย หญิงจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง โดยใช้รถบัส 2 คัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่ รปภ.ศาล มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ทั้งภายในและบริเวณโดยรอบอาคาร รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วดูแลบริเวณถนนรอบพื้นที่ และได้มีการปิดพื้นที่ด้านหลังศาลอาญา บริเวณห้องควบคุมผู้ต้องขัง และไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลยรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปภายในห้องพิจารณา 704 ชั้น 7 ซึ่งศาลได้ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดถ่ายทอดภาพการตรวจพยานหลักฐานจากห้องพิจารณามาที่ชั้น 2 ของศาลอาญา