ASTV ผู้จัดการ - ศาลฎีกาฯนัดไต่สวนพยาน 42 ปาก 16 นัด คดีโกงจำนำข้าว แล้วเสร็จ พ.ย. 2559 ยิ่งลักษณ์กล่าวมั่นใจพยานที่มีอยู่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ เชื่อศาลให้ความเป็นธรรม และขอขอบคุณประชาชนที่นัดชุมนุมให้กำลังใจ แต่ขอให้คำนึงถึง คสช และรัฐบาล อยากให้บ้านเมืองสงบ และอยากให้เข้าสู่การปรองดอง
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ต.ค. ศาลฎีกาฯ นัดตรวจหลักฐานในคดีหมายเลขดำ อม. 22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พระราชบัญญัญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดยก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณาศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า นายศิริชัย วัฒนโยธิน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ไปดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอนุญาตให้ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิม ซึ่งได้เป็นประธานศาลฎีกา ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาทั้งสองพ้นหน้าที่จากการเป็นองค์คณะผู้พิพากษา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงเลือกนายโสภณ โรจน์อนนท์ และ นายพิศล พิรุณ เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทน คู่ความแถลงไม่ติดใจคัดค้าน องค์คณะผู้พิพากษาจึงได้พิจารณาเลือกนายชีพ จุลมนต์ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ขณะที่การตรวจพยานหลักฐาน องค์คณะได้พิจารณาตามบัญชีของพยานโจทก์ และจำเลย ที่เสนอมาแล้วเห็นว่าให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากเดิมที่ยื่นบัญชีพยาน 17 ปากและกำหนดให้ไต่สวนพยานโจทก์ 5 นัดโดยเริ่มนัดแรกวันที่ 15 ม.ค. 2559 วันที่ 17 และ 26 ก.พ. 2559 วันที่ 4 และ 23 มี.ค. 2559
สำหรับจำเลย ศาลอนุญาตให้นำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก จากเดิมที่ยื่นขอ 43 ปาก โดยใช้เวลาไต่สวนพยานจำเลย 16 นัด โดยเริ่มวันที่ 1 และ 22 เม.ย. 2559 วันที่ 13 และ 18 พ.ค. 2559 วันที่ 17 และ 24 มิ.ย.2559 วันที่ 8 และ 22 ก.ค.2559 วันที่ 5 และ 19 ส.ค. 2559 วันที่ 9 และ 23 ก.ย. 2559 วันที่ 7 และ 21 ต.ค. 2559 วันที่ 4 และ 18 พ.ย. 2559 เวลา 09.30 น.
ส่วนนายบรรยง อินทนา, นางสวีณา พลพืชน์, น.ส.ศิรษา กันต์พิทยา พยานโจทก์อีก 3 ปาก และนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. พยานจำเลยอีกหนึ่งปากให้รอพิจารณาสั่งว่าจะให้ไต่สวนหรือไม่ เมื่อศาลได้ทำการไต่สวนพยานแต่ละฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว
โดยศาลฎีกาฯ ได้กำชับให้คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งคำเบิกความพยานให้ศาลก่อนวันนัด 14 วัน และส่งประเด็นคำถามเสนอศาลก่อน 7 วัน พร้อมกำชับให้นำพยานที่จะเข้าไต่สวนมาตามนัด
ภายหลังเสร็จกระบวนการพิจารณา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวขอบคุณศาลที่อนุญาตให้นำพยานกลุ่มที่ ป.ป.ช. ไม่ได้รับไว้พิจารณา เข้าไต่สวนหลายปาก อาทิ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. อยู่ระหว่างการตอบรับว่าจะมาเป็นพยานหรือไม่ และตัวเองมั่นใจในพยานหลักฐานที่มียู่จะสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทย์ได้ โดยเชื่อว่า ศาลฎีกาฯ จะให้ความเป็นธรรม และตนก็พร้อมต่อสู้ตามกระบวนกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มประชาชนนัดสวมเสื้อสีแดงในวันที่ 1 พ.ย. นี้ เพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ขอขอบคุณทุกกำลังใจ ที่มอบให้ แต่ขอให้คำนึงถึงคำสั่งของ คสช. และรัฐบาล เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และอยากให้เข้าสู่การปรองดอง
ด้าน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่าพยานสำคัญที่จะนำไต่สวนในคดีนี้ อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายนิวัฒธำรงค์ บุญทรงไพศาล, นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ , นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระ และนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร บ.ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรม เพราะหากกระทรวงการคลังจะดำเนินการตรวจสอบคิดคำนวณเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งก่อนที่คดีอาญาในศาลฎีกาฯ จะเสร็จสิ้น ย่อมจะไม่ถูกต้อง เพราะในสำนวนคดีอาญาได้แต่ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบเท่านั้น ไม่ได้กล่าวหาว่ากระทำการทุจริตและในสำนวนก็ไม่ได้ระบุตัวเลขความเสียหายไว้ ซึ่งต่างจากสำนวนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ส่วนพยานปากนางสดศรี อดีต กกต. ที่ศาลให้รอฟังว่าจะให้นำเข้าไต่สวนเพิ่มจากพยาน 42 ปาก หรือไม่นั้น ในการต่อสู้คดีเราก็ต้องการให้นางสดศรีเข้าเบิกความเกี่ยวกับประเด็นนโยบายการเมืองที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในบริเวณศาลฎีกาฯ เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ เนื่องจากมีประชาชนประมาณ 200 กว่าคนมารอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบดูแลรักษาความปลอดภัย และเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงพร้อมทีมทนายความ ประชาชนต่างตะโกนว่า นายกฯสู้สู้
ขณะที่มีกลุ่มนักการเมือง อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.ไอซีที นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ มาให้กำลังใจด้วยเช่นกัน
สำหรับคดีนี้คาดว่า ศาลฎีกาฯน่าจะตัดสินไม่เกินเดือนธันวาคม2559โดยประมาณ ทั้งนี้ จำเลยต้องไปศาลทุกนัดเพราะโทษสูงไม่สามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้