xs
xsm
sm
md
lg

“อัยการสูงสุด” ยันทำงานเพื่อความถูกต้อง ปราศจากการแทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด
 
“อัยการสูงสุด” เผยทำงานยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส ย้ำอัยการต้องปราศจากการแทรกแซง เพื่อให้การสั่งคดีเป็นไปโดยอิสระ พร้อมเร่งดำเนินการขอส่งตัว “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (9 ต.ค.) ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ได้แถลงนโยบายการบริหารงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างปี 2558-2560 ว่า การดำเนินงานจะยึดหลักธรรมาภิบาล (Good governance) เพื่อความเป็นธรรม ความถูกต้อง ความสุจริต มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และยึดหลักนิติธรรม โดยแบ่งออกเป็น 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1. นโยบายเพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง โดยเฉพาะการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีพิเศษและคดีปกครอง อีกทั้งสร้างหลักประกันให้กับประชาชนและสังคมว่าพนักงานอัยการจะปฏิบัติหน้าที่และสั่งคดีให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตลอดจนส่งเสริมการระงับข้อพิพาททางเลือก เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2. นโยบายเพื่อพัฒนาองค์กรอัยการโดยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของพนักงานอัยการในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้พนักงานอัยการมีความเป็นอิสระในการสั่งคดี ตลอดจนพัฒนาองค์กรอัยการให้สอดคล้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

3. นโยบายต่อหน่วยงานของรัฐจะเร่งประสานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของทางราชการและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐให้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องคดี รวมทั้งสนับสนุนนโยบายที่สำคัญของรัฐ เช่น การปราบปรามการทุจริต อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด 4. นโยบายระหว่างประเทศจะเป็นศูนย์กลางกฎหมายของประเทศอาเซียน พร้อมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลในศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ และช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ประชาชนเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว คนเข้าเมือง การลงทุนและการพาณิชย์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาโดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร และส่งเสริมการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และ 5. นโยบายด้านการประชาสัมพันธ์จะสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในองค์กรอัยการต่อประชาชน สังคม หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์คดีสำคัญต่างๆ ที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ

ขณะที่อัยการสูงสุดได้มอบหมายงานให้รองอัยการสูงสุดรับผิดชอบงานที่สำคัญแต่ละด้าน ดังนี้ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคล สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เช่น งานร่างสัญญาและงานตอบข้อหารือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และสำนักงานต่างประเทศ, นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานคดีอาญา และสำนักงานคดีอัยการสูงสุด เฉพาะงานรับรองฎีกา, นายกิตติ บุศยพลากร รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด สำนักงานคดีศาลสูงและสำนักงานคดีศาลสูงภาค และสำนักงานคดีอัยการสูงสุด

ขณะที่ น.ส.นิภาพร รุจนรงศ์ รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบงานสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด สำนักงานคดียาเสพติด และสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว, นางนิภา ยิ้มฉาย รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ และนายนิตสิต ระเบียบธรรม รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบงานคดีความมั่นคงในพื้นที่พิเศษชายแดนใต้ สำนักงานวิชาการ และสำนักงานนโยบาย ยุทธศาสตร์และงบประมาณ

ภายหลังการแถลงนโยบาย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริการ อัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะต้องมีความอิสระ การสั่งคดีต้องปราศจากการแทรกแซง และใช้อำนาจให้เกิดความชอบธรรมไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใดหรือกระทรวงใด ดังนั้น อัยการไม่ควรอยู่ภายใต้อำนาจการสั่งการของฝ่ายบริหาร หากจะมีการนำอัยการกลับเข้าสังกัดกระทรวงยุติธรรมก็จะกลายเป็นว่าอัยการจะอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารซึ่งมีรัฐมนตรียุติธรรมควบคุม แต่ในเรื่องการรับนโยบายนั้นทางอัยการจะยังต้องมีการรับนโยบายภารกิจจากรัฐบาลที่ไม่ใช่การเมือง

อัยการสูงสุดกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการพัฒนากฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้การดำเนินคดีอาญา ยุติในชั้นอัยการหลายๆ เรื่อง รวมทั้งกฎหมายชะลอการฟ้อง ซึ่งเป็นการใช้มาตรการลดปริมาณคดีไม่ให้เข้าสู่ศาล และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนเรื่องการสั่งคดีของอัยการสูงสุดนั้น จะต้องเป็นการสั่งคดีที่มีเหตุผลรองรับและสามารถชี้แจงได้ โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงกระบวนการได้ แต่ในกรณีมีการสั่งไม่ฟ้องก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติโดยสิ้นเชิง หากมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถรื้อคดีกลับมาฟ้องได้อีกครั้ง

ส่วนเรื่องการสอบสวนของพนักงานอัยการในคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร อย่างเช่น คดีค้ามนุษย์ ปัจจุบันได้มีการตั้งสำนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ขึ้นมาทำงานในเชิงรุกป้องกันและปราบปรามคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้ทางอัยการได้เตรียมความพร้อมแล้ว หากศาลจังหวัดนาทวีมีคำสั่งให้โอนคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจามาพิจารณาที่ศาลอาญา รัชดาฯ ขณะที่สำนวนคดีค้ามนุษย์ที่ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งมาเพิ่มเติมนั้น ตนได้กำชับให้อัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคดีนี้มีระยะเวลาในการฝากขัง

นอกจากนี้ อัยการสูงสุดยังได้กล่าวถึงเรื่องการติดตามตัวนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยหนีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า อัยการได้ติดตามในเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ในทางปฏิบัตินั้นการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต้องทราบที่อยู่เป็นหลักแหล่งของตัวผู้ร้ายที่หลบหนีคดีให้แน่ชัด จึงต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าอัยการยังมีความพยายามติดตามตัวอยู่ตลอด

เมื่อถามว่าหากไม่สามารถติดตามตัวนายทักษิณมารับโทษได้จะถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในเรื่องการบังคับคดีหรือไม่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์กล่าวว่า สุดท้ายแล้วหากไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ก็ไม่ถือว่าเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม เพราะการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีขั้นตอนรายละเอียดมาก รายละเอียดแต่ละขั้นตอนยังพบว่ามีความติดขัดอยู่จึงไม่ใช่ปัญหาในประเทศอย่างเดียว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมก็จะต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ส่วนเรื่องที่มีการประสานไปยังประเทศใดบ้างแล้วนั้นตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอัยการจะทำสุดความสามารถ รวมถึงผู้ต้องหาที่ถูกพิจารณาคดีและหลบหนีไปยังต่างประเทศรายอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีการหลบหนีคดีของนายวิรพล สุขผล หรือเณรคำ

เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีที่นายตระกูล วินัจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องการถอนฟ้องคดีวัดพระธรรมกายในความผิดฉ้อโกงประชาชนในยุคของ นายพชร ยุติรรมดำรง เป็นอัยการสูงสุดนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง ทราบว่าคณะทำงานได้ทำการพิจารณาในเรื่องนี้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ยังมีข้อที่ต้องสอบเพิ่มเติมจึงมีการตั้งคณะทำงานสอบสวนเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

ด้านนายกิตติ บุศยพลากร รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากนี้หนึ่งในภารกิจสำคัญที่อัยการดำเนินการ คือ การเร่งรัดดำเนินคดี โดยยกตัวอย่างกรณีที่อัยการสั่งมีการสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานอัยการควรต้องติดตามความคืบหน้าการดำเนินการด้วย ต้องกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดตามคำสั่ง ไม่ใช่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมแล้วทิ้งงานหรือคอยให้ครบ 15 วันตามระเบียบแล้วค่อยสอบถาม เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ประสิทธิภาพการทำงานของอัยการสูงสุดที่อาจถูกมองว่าทำคดีล่าช้า อย่างไรก็ตาม พนักงานงานอัยการมีแนวโน้มเข้าไปร่วมเป็นเป็นพนักงานสอบสวนในคดีสำคัญเพิ่มมากขึ้น เช่นคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดังนั้น ควรมีบทบาทในการให้คำแนะนำการทำงานโดยเฉพาะสรุปสำนวนคดีสั่งฟ้องให้กันตามกรอบเวลาฝากขัง 7ผัด

น.ส.นิภาพร รุจนรงศ์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรียกคืนผลประโยชน์ให้กลับคืนแก่รัฐ หนึ่งในประเด็นที่มีการกำชับให้ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นคือการบังคับโทษปรับในคดียาเสพติด โดยล่าสุดมีการทำหนังสือเวียนไปยังอัยการทั่วประเทศขอให้พนักงานอัยการดำเนินการขอหมายบังคับคดีให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำไปใช้ในการยึดและอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิคดียาเสพติดตามคำสั่งบังคับโทษปรับ หลังพบว่าที่ผ่านมาหลายคดีไม่ได้มีการบังคับใช้โทษปรับ ซึ่งตามกฎหมายโทษปรับมีเป้าหมายเพื่อให้มีการชำระ ไม่ใช่การกักขังเท่านั้น ทั้งนี้ จะมีการผลักดันให้ติดตามผลการใช้โทษปรับกับคดียาเสพติดให้เพิ่มมากขึ้น

นางนิภา ยิ้มฉาย รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดในแต่ละพื้นที่เริ่มขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในคดีแพ่ง เนื่องจากเดิมจะมีการบังคับให้พนักงานอัยการใหม่ต้องไปประจำอยู่ในสำนักงานคดีแพ่งก่อน 2 ปี แต่ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเหมือนในอดีต ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องรับผิดชอบคดีแพ่งซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ต่างจากคดีทั่วไป เพราะคดีแพ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการต้องตั้งต้นคดีใหม่เองทั้งหมด ที่สำคัญระยะหลังมีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองมากขึ้น เมื่อพนักงานอัยการบางรายต้องมารับผิดชอบคดีดังกล่าวและต้องเจอกับทนายของฝ่ายการเมืองก็มักมีความไม่มั่นใจในการทำงานเพราะไม่เคยผ่านการทำงานในสำนักงานคดีแพ่งมาก่อน โดยคดีแพ่งมีหลักการทำงานที่สำคัญคือรวบรวมพยานหลักฐานให้มากที่สุดก่อนสั่งคดี หากดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว อัยการที่ทำคดีจะสามารถมองเห็นผลการตัดสินล่วงหน้าได้ ซึ่งคดีแพ่งถือเป็นคดีสำคัญเพราะเกี่ยวโยงกับเงินที่รัฐจะได้คืนจากการกระทำผิดในแต่ละคดี

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น