ASTV ผู้จัดการ - โฆษกอัยการแถลงเปิด 2 สำนักงาน “คดีค้ามนุษย์ - ปราบปรามทุจริต” พร้อมเผยอัยการยื่นฟ้อง “จุฑามาศ - ลูกสาว” เรียกรับสินบน 60 ล้านแล้ว ศาลสั่งปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกันคนละ 1 ล้าน
เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 201 สำนักงานอัยการสูงสุด นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ขึ้นมาในสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งคดีการค้ามนุษย์ และคดีปราบปรามการทุจริตนั้น จำเป็นต้องมีอัยการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งปริมาณคดีทั้งสองประเภทเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพสูง จึงต้องมีการพัฒนาสร้างระบบงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะเปิดทำการในวันที่ 1 ต.ค. 2558 คาดจะตั้งอยู่ที่สำนักงานใกล้กับศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เพื่อความสะดวกในการนำตัวผู้ต้องหาไปส่งศาล
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า สำหรับคดีค้ามนุษย์นั้นรัฐมีนโยบายที่จะต้องการปราบปรามอย่างจริงจัง ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกอัยการจากทั่วประเทศ ที่เคยผ่านการทำคดี หรือร่วมสอบสวนในคดีค้ามนุษย์ และมีผลงานมาแล้ว ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเรามีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ก็จะต้องมาฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานที่เปิดใหม่นี้จะเป็นระดับอธิบดี
“อัยการที่ได้รับเลือกมาอยู่สำนักคดีค้ามนุษย์จะเป็นอัยการที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เคยทำสำนวนคดี หรือมีผลงานเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ จะต้องมีความเข้าใจสภาวะพิเศษของผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างชาติที่อาจได้รับความเสียหายทางสภาพจิตใจ และจะต้องทำคดีที่เกี่ยวกับการค้าแรงงานข้ามชาติ หากผู้ต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศ ก็จะต้องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน โดยจะส่งพนักงานอัยการไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนด้วย และคาดว่า อาจจะมีการโอนคดีโรฮีนจา ที่ จ.สงขลามาดำเนินคดีที่กรุงเทพมหานคร เพราะเป็นคดีใหญ่และผู้ต้องหามีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งคดีที่ผู้จัดการธนาคารสร้างกรงขังแรงงานชาวลาว ที่ จ.นครปฐม” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องสำนักงานปราบปรามการทุจริตนั้นคดีที่เข้าข่ายจะเป็นคดีทุจริตของข้าราชการระดับล่างจนถึงระดับนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่เดิมนั้นหน่วยงานเดิมจะเป็นอัยการคดีพิเศษที่ทำคดีที่ส่งมาจาก ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ก็จะโอนมาสำนักงานปราบปรามการทุจริต
ฟ้อง “จุฑามาศ - ลูกสาว” คดีเรียกรับสินบนโดยมิชอบ ศาลสั่งปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกันคนละ 1 ล้าน
นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นฟ้องคดี นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 68 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว อายุ 41 ปี เป็นจำเลยต่อศาลอาญา กรณีเรียกรับเงินจากนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกาโดยมิชอบ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok Film Fastival ) เมื่อปี 2546 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนรอราคาหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินคดีกับสองสามีภรรยาชาวสหรัฐอเมริกาไปแล้วและมีการประสานขอตัวนางจุฑามาศ และบุตรสาว ไปดำเนินคดีในต่างประเทศหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้มีการประสาน และส่งคำร้องขอตัวนางจุฑามาศ และบุตรสาวมาจริง แต่เนื่องจากขณะนี้จำเลยทั้งสองกำลังถูกดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็นมูลเหตุความผิดจากกรณีเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องส่งตัวไปยังต่างประเทศ ซึ่งเราได้ชี้แจงกับทางสหรัฐอเมริกากลับไปแล้ว ทั้งนี้ ถ้านางจุฑามาศ และบุตรสาว หลบหนีหรือเดินทางออกนอกประเทศก็อาจที่จะถูกทางการสหรัฐอเมริกาจับกุมตัวไปดำเนินคดีก็ได้ ซึ่งคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนางจุฑามาศ นั้น มีคดีอัตราโทษไม่ต่ำกว่า 20 ปี ส่วนท้ายคำฟ้องนั้น ตนไม่แน่ใจว่าทางพนักงานอัยการได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือไม่
เมื่อถามว่า จะมีการโอนคดีที่นางจุฑามาศ ตกเป็นจำเลย ไปยังสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตที่เตรียมจะตั้งขึ้นมาใหม่หรือไม่ นายวันชัย บอกว่า อาจจะมีการโอนก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ ต้องดูรายละเอียดของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตอีกครั้ง ว่า จะมีนโยบายรับทำเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นใหม่ หรือรับคดีเก่ามาอยู่ในความรับผิดชอบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนางจุฑามาศ และบุตรสาว นั้น ศาลอาญาได้ประทับรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำ อ.ท. ที่ 14/2558 โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง ตีราคาวงเงินประกันคนละ 1 ล้านบาท และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.