แม้เส้นทางการก้าวเข้าสู่เก้าอี้ “ผบ.ตร.” ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเข้าตำราโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไร้ขวากหนาม แต่เส้นทางการก้าวต่อจากนี้ไปในฐานะ “ผู้นำสีกากี” เชื่อว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนตอนขึ้นสู่ตำแหน่ง เบอร์ 1 กรมปทุมวันแน่ ๆ
การก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” คนที่ 11 ของ ”บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ง่ายดายประหนึ่งปอกกล้วยเข้าปาก เพราะว่ามติ ก.ต.ช. หรือคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติกรรมการ ก.ต.ช. ทุกคน ลงคะแนนเสียงสนับสนุน เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 0
แม้ก่อนหน้านี้ แคนดิเดต “ผบ.ตร.” จะมีชื่อ “บิ๊กเอก” พล.ต.อ.เอก อังสนานนนท์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับ 1 ซึ่งมีผลงานในช่วงการปราบปรามการค้ามนุษย์ เบียดตีคู่กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชนิดที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าระหว่าง “อ.” กับ “ป.” ใครจะเข้าวิน เพราะต่างก็มีผลงานและแรงสนับสนุนสูสีกันมาตลอด
สุดท้ายหน้าไพ่ใครจะได้เป็น “ผบ.ตร.” ก็มาเฉลยก่อนการประชุม ก.ต.ช. เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีกระแสข่าวมาตลอดว่าเลือกที่จะใช้งาน พล.ต.อ.เอก ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ไม่มานั่งหัวโต๊ะประธาน ก.ต.ช. โดยมอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งมีกระแสข่าวยืนยันว่าชื่นชอบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นชีวิตจิตใจ มาเป็นประธานแทน
ก็เป็นไปตามไต๋ที่ถูกเปิดเผย
“บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับ “บิ๊กแป๊ะ” เสนอชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ รอง ผบ.ตร. เพียงรายเดียวให้ที่ประชุม ก.ต.ช. พิจารณา โดยใช้เวลาไม่กี่นาที กรรมการ ก.ต.ช. ต่างก็ลงคะแนนเสียงเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ผบ.ตร.” ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 มี “บิ๊กป้อม” ที่ขอสงวนท่าทีไม่ออกเสียงในฐานะประธานเท่านั้น ทุกอย่างผ่านฉลุย “ผบ.ตร.” คนที่ 11 แห่ง “กรมปทุมวัน” ถูกแปะชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นที่เรียบร้อย ไร้เสียงท้วงติงจากกรรมการ ก.ต.ช. ตามที่ พล.ต.อ.สมยศ ออกมาแถลงข่าว หลังเสร็จสิ้นการประชุมเลือก “ผู้นำสีกากี” ในค่ายทหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “กรมตำรวจ” และ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
อย่างไรก็ดี แม้เส้นทางการก้าวเข้าสู่เก้าอี้ “ผบ.ตร.” ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเข้าตำราโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไร้ขวากหนาม แต่เส้นทางการก้าวต่อจากนี้ไปในฐานะ “ผู้นำสีกากี” เชื่อว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนตอนขึ้นสู่ตำแหน่ง เบอร์ 1 กรมปทุมวันแน่ ๆ โดยเฉพาะการบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การทำงานได้ขับเคลื่อนไปสู่ภายนอกตามทิศทางที่ตัวเองต้องการ เป็นสิ่งที่ “บิ๊กแป๊ะ” ต้องเผชิญ เพราะด้วยการอุ้มสมค้ำถ่อข้ามหัวรุ่นพี่ ๆ ขึ้นเป็น “ผู้นำหน่วย” ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญในการบังคับบัญชา แม้ พล.ต.อ.สมยศ จะออกตัวบอก “บิ๊กแป๊ะ” ถึงมีอาวุโสน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการบังคับบัญชา เพราะทุกคนที่ก้าวมาถึงจุดนี้ก็ผ่านการเป็นผู้บังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วการเป็นผู้บัญชาการ หรือผ่านหน่วยงานต่าง ๆ มาก็เคยปกครองผู้บังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วทั้งนั้นทุกคน
“ผมเองก็เคยผ่านการปกครองและบังคับบัญชารุ่นพี่มาเช่นกันมันอยู่ที่ว่าใครจะมีวิธีการมีศิลปะในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นรุ่นพี่ หรือแม้แต่รุ่นน้องก็แล้วแต่ตรงนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านมีประสบการณ์เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มาทั้งชีวิตจนมาถึงจุดสูงสุด เรื่องการปกครองบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้องคง ไม่ใช่ปัญหา”
อาจจะเป็นสิ่งที่เหมือนและแตกต่างในการมีอำนาจวาสนาครั้งนี้ของจักรทิพย์ เนื่องจากการเป็นผู้บังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วในอดีต แตกต่างจากครั้งนี้ราวฟ้ากับเหว เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสมัย ผู้กำกับ (ผกก.) ผู้บังคับการ (ผบก.) หรือผู้บัญชาการ (ผบช.) รุ่นพี่ที่เป็นรอง ๆ เชื่อฟัง และยอมทำงานตามรุ่นน้องที่เป็นผู้บังคับบัญชา นอกจากระเบียบ วินัย ราชการแล้ว รุ่นพี่ที่เป็นระดับรองก็ยังมีความหวังที่จะทำผลงานให้เข้าตาผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อเติบโตในหน้าที่ราชการ แต่สำหรับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ รุ่นน้องที่มีอาวุโสสุดท้ายในระนาบ รอง ผบ.ตร. ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าสีกากีทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่การค้ำถ่อข้ามหัวรุ่นพี่ๆอย่างเดียว หากแต่เป็นการก้าวเข้ามาปิดหัวการเติบโตในอาชีพราชการของตำรวจในการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดแห่งวิชาชีพ
เพราะ พล.ต.อ.จักทิพย์ จะเกษียณอายุราชการปี 2563 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ยิ่งตรวจแถวระดับ “รองผบ.ตร.” หรือ “ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ที่ดำรงตำแหน่งอยู่และยังไม่เกษียณอายุราชการในปีนี้ มีเพียงพล.ต.ท.สุวีระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เพียงรายเดียวที่เกษียณอายุราชการหลัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ เพราะเกษียณปี 2565 นอกนั้นเกษียณก่อน “บิ๊กแป๊ะ” แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับ “รอง ผบ.ตร.” หรือ ที่ปรึกษา (สบ 10) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เกษียณปี 2559 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เกษียณปี 2559 พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ เกษียณปี 2561 พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เกษียณปี 2562 พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ เกษียณปี 2559 พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร เกษียณปี 2559 พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล เกษียณปี 2560
หรือระดับ “ผู้ช่วย ผบ.ตร.” หรือเทียบเท่า พล.ต.ท.วินัย ทองสอง เกษียณปี 2560 พล.ต.ท.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา เกษียณปี 2561 พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น เกษียณปี 2560 พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา เกษียณปี 2559 พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ เกษียณปี 2559 พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ เกษียณปี 2561 พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว เกษียณปี 2559 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ เกษียณปี 2559 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ เกษียณปี 2559 พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา เกษียณปี 2560
เมื่อขวัญกำลังใจหดหายไป แรงจูงใจไม่มี ประสิทธิภาพการทำงาน การทำหน้าที่ก็ย่อมลดน้อยถอยลงไป เหลือเพียงการทำงานตามหน้าที่ ไม่ให้บกพร่อง ไม่ให้เกิดปัญหา ตามเนื้องานที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่จะมุ่งมั่น พัฒนา สร้างผลงาน หากไม่คิดแบบพวกโลกสวยก็ต้องบอกว่า “ยาก” ที่ใครจะทุ่มเท
“บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ว่าที่ ผบ.ตร. คนที่ 11 ต้องเผชิญภาวะ “โดดเดียว” อย่างไม่ต้องสงสัย!!!! การขึ้นเป็น ผบ.ตร. เป็นวาสนาหรือวิบากกรรมของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังต้องติดตามดู