กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในแวดวง “สีกากี” เรื่องที่ “บิ๊กปู” พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ยื่นคำร้องต่อ “ศาลปกครอง” ให้มีคำสั่งเยียวยากรณีการนับอายุราชการทวีคูณจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
หลังถูกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ติดเบรกมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากที่ “บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ร้อง ก.ตร.นับอาวุโสทวีคูณในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้
แม้คำสั่ง “ศาลปกครอง” จะเยียวยาให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ตามที่ร้องขอหรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีคำสั่งออกมาแล้วหรือยัง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องแจ้งให้ผู้ร้องทราบเพียงผู้เดียว กระนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงแนวทางการปฏิบัติ หากมีการเยียวยาดังกล่าว จะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด?
เพราะฟากฝั่งที่ใกล้ชิด พล.ต.ท.ศรีวราห์ ต่างมองว่าหากได้รับการเยียวยาย้อนหลังไปตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้น ปี 2553 เมื่อนำมาเทียบเคียงกับอายุราชการทวีคูณ “บิ๊กปู” ก็จะทำให้นับอาวุโสอยู่ในระดับ “รอง ผบ.ตร.” ติดยศ “พล.ต.อ.” ได้แล้ว
เนื่องจากในการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 7/2553 วันที่ 1 ก.ย.2553 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. (ขณะนั้น) เสนอรายชื่อที่ผ่านบอร์ดกลั่นกรอง ก.ตร. ให้ พล.ต.ต.ศรีวราห์ ซึ่งขณะนั้นมียศ พล.ต.ต. ตำแหน่งรอง ผบช.ก.ที่คุณสมบัติครบตามเกณฑ์แบบแตะเส้น ตามสิทธิพิเศษนับอายุราชการทวีคูณจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1
แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็มีหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.ตร.(ขณะนั้น) ระบุว่า การได้มาซึ่งสิทธิทวีคูณไม่ถูกต้อง เพราะพล.ต.ท.ศรีวราห์ใช้เวลาช่วงที่ไปปฏิบัติราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ไปเรียนหลักสูตรวิทยลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่น 22 ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรอยู่ด้วย จน ก.ตร.ก็มีคำสั่งระงับการแต่งตั้งตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ไว้ เพื่อรอผลการสอบข้อเท็จจริง และไม่ได้มีการแต่งตั้งใครไปดำรงตำแหน่ง มีเพียงมอบหมายให้ไปนั่งเก้าอี้รักษาการแทน ผบช.ภ.1 ทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง (ยศในขณะนั้น)
จากนั้นมีการสอบสวนข้อเท็จจริง มีการต่อสู้ มีการยื่นพยานหลักฐาน หักล้างกันอยู่พักใหญ่ สุดท้ายในการประชุม ก.ตร.เดือน มิ.ย. 2555 ก.ตร. ก็มีมติถอนการแต่งตั้ง พล.ต.ต.ศรีวราห์ จากตำแหน่ง ผบช.ภ.1 เพราะมองว่าการไปปฏิบัติราชการชายแดนใต้ของ “บิ๊กปู” ไม่ใช่การไปทำงานอย่างประจำต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550
ทำให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ใช้ช่องทางกฎหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง เพื่อให้เยียวยาสิทธิการนับอายุราชการทวีคูณจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี หนทางการดำเนินการตามแนวทางที่ฟากฝั่ง พล.ต.ท.ศรีวราห์มองหากได้รับสิทธิเยียวยาคืน ต้องได้ปรับระดับขึ้นไปเป็น “รอง ผบ.ตร.” ติดยศ “พล.ต.อ.” แบบอัตโนมัติ ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากนำระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา การแต่งตั้งตำรวจมาประกอบการพิจารณา พบว่า
การแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ เป็น ผบช.ภ.1 ตั้งแต่ปี 2553 แม้จะผ่านมติ ก.ตร.เรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการขั้นตอนก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากในระหว่างรอเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็มีหนังสือร้องเรียนมาก่อน และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.(ขณะนั้น) ก็มีมติระงับตำแหน่งการแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์เอาไว้
เพราะตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ลักษณะ 6 ระเบียบข้าราชการตำรวจ หมวด 2 การบรรจุ การแต่งตั้งและการเลื่อนขั้นเงินเดือน มาตรา 51 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก (2) ตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโทหรือพลตำรวจเอก
(3) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจาก ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโท (4) ตำแหน่งผู้บัญชาการ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีหรือพลตำรวจโท (5) ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรี (6) ตำแหน่ง ผู้บังคับการ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษจะได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกซึ่งได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ) หรือพลตำรวจตรี
นั่นหมายถึงว่า การแต่งตั้งระดับ “นายพล” ทุกตำแหน่งจะครบถ้วนสมบูรณ์ก็ต้องมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่นเดียวกับการจะนำการนับทวีคูณไปเทียบเคียงขึ้น รอง ผบ.ตร.เลยโดยไม่ผ่านตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.ก็จะติดปัญหาจะข้ามตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.ไปได้อย่างไร เพราะตำแหน่งนี้ก็ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเช่นกัน
กรณีหากศาลปกครองมีคำสั่งให้เยียวยา พล.ต.ท.ศรีวราห์ และส่งเรื่องมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ตร.พิจารณา เชื่อว่า ก.ตร.คงต้องทำหนังสือสอบถามกลับไปถึงขั้นตอนและวิธีการเยียวยา เนื่องจากเกี่ยวพันกับกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ไม่เช่นนั้นแล้ว “กรมปทุมวัน” ปั่นป่วนแน่
เพราะนอกจากปัญหาการขัดข้อกฎหมายแล้ว การบริหารงานบุคคลก็ปั่นป่วน หาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ ทวีคูณขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร. ก็มีสิทธิเป็น ผบ.ตร.คนต่อไปเฉกเช่นเดียวกับรอง ผบ.ตร. “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ที่มีอายุราชการใกล้เคียงกัน และมีผู้สนับสนุนฝั่งเดียวกัน คงต้องวัดพลังกันมันหยด
ดังนั้น งานนี้คงต้องว่ากันยาวๆ เพราะมีหลายขั้นตอนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด