xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหนังสือ “ไพบูลย์” ส่งสรุปฟันธงให้ถอดยศ “ทักษิณ” ให้นายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
ASTVผู้จัดการ - เปิดหนังสือ “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา โดยละเอียด สรุปทักษิณ เข้าข่ายต้องถูกถอดยศตาม พ.ร.บ. ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ชัดเจน

วันนี้ (13 ส.ค.) มีรายงานว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้มีหนังสือเลขที่ ยธ/0101/5000 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 เรื่อง รายงานผลการติดตามการพิจารณาถอดยศกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงยุติธรรมติดตามการพิจารณาเกี่ยวกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมดว่าการดำเนินการ ที่ผ่านมามีข้อติดขัดในส่วนใดบ้าง รวมทั้งชี้แจงข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า นั้น

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 กระผมได้จัดให้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เข้าร่วมการประชุม ปรากฏผลการประชุมดังต่อไปนี้

เมื่อปี พ.ศ. 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องการถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 แต่เนื่องจากมีข้อท้วงติงบางประการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้หารือข้อกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีความเห็นตาม เรื่องเสร็จที่ 692/2552

สรุปความได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ตกอยู่ในข่ายที่อาจถูกถอดยศได้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 (ระเบียบถอดยศ)

ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อท้วงติงว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่บังคับใช้แก่บุคคลซึ่งพ้นจากราชการตำรวจอันเป็นการออกระเบียบเกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (พ.ร.บ.ตำรวจ) ให้อำนาจไว้ และระเบียบถอดยศมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร) มาตรา 7 (4) และมาตรา 8

จากข้อท้วงติงดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจด้านกฎหมายและระเบียบ (อ.ก.ตร. เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ) ได้มีการประชุมครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ได้มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อท้วงติงดังกล่าว แต่เพื่อความรอบคอบจึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับการออกระเบียบว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีได้มีความเห็นตอบข้อหารือตามเรื่องเสร็จที่ 575/2554

สรุปความได้ว่าการออกระเบียบถอดยศ สามารถออกระเบียบครอบคลุมบุคคลภายนอกได้ คือ ผู้มียศตำรวจทุกกรณี ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

ในการประชุมผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าปี พ.ศ. 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาในเรื่องนี้ไว้ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการ และต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นว่ากรณีนี้แม้จะเข้าตามระเบียบถอดยศ ข้อ 1 (2) แล้ว แต่เห็นว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่ไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะตำรวจ เพราะเป็นกรณีที่ดำเนินการไปตามกฎเกณฑ์ของทางราชการ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้เคยทำประโยชน์อย่างมากต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นควรไม่ดำเนินการถอดยศ

ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีผู้ร้องเรียนการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถอดยศต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ว่า กรณีนี้ไม่ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหยิบยกกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบถอดยศข้อ 1 (6) หรือไม่

ในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจโดยมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาประเด็นตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความเห็น โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ว่า กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไป มีเหตุถอดยศตามระเบียบถอดยศ ข้อ 1 (6) และเสนอความเห็นดังกล่าวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าควรดำเนินการถอดยศ แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่ายังมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการนำระเบียบถอดยศไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับข้อหารือว่าไม่อาจตอบข้อหารือนี้ได้ เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำข้อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแล้ว

ข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นมาตรา 28 การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547
ข้อ 1 การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจและที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
2. ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
3. ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
4. กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
5. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
6. ผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานรัฐ
7. ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา

กฎมติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบาย หรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 8 ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ตามมาตรา 7(4) ถ้ายังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จะนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดไม่ได้ เว้นแต่ผู้นั้นจะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารนั้นตามความเป็นจริงมาก่อนแล้วเป็นเวลาพอสมควร

ประเด็นอภิปรายในการประชุม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นว่ากรณีพันตำรวจโททักษิณ เข้าข่ายอาจถูกถอดยศตามระเบียบถอดยศ และเห็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าระเบียบถอดยศเป็นการออกระเบียบที่ไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้และสามารถใช้บังคับกับบุคคลซึ่งพ้นจากราชการตำรวจได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของระเบียบถอดยศว่าเป็นระเบียบที่ต้องประกาศราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 (4) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารหรือไม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการตอบข้อหารือจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่ที่ผ่านมา นับแต่การใช้ระเบียบถอดยศสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการถอดยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรจำนวน 100 ราย และชั้นประทวนจำนวน 532 รายไปแล้ว

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่ได้มีความเห็นว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่ใช้กับเอกชนทั่วไปตามมาตรา 7 (4) หรือไม่ แต่ในความเห็นเรื่องเสร็จที่ 675/2554 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นไปในทำนองว่าระเบียบถอดยศเป็นการกำหนดกระบวนการที่ใช้ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นได้ว่าระเบียบถอดยศมิได้มีผลบังคับแก่เอกชนทั่วไป อีกทั้งการถอดยศเป็นเรื่องของการใช้บังคับแก่บุคคลที่ได้ยศตำรวจซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในราชการตำรวจ จึงมิต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เห็นว่า หากตีความอย่างกว้างอาจถือได้ว่าระเบียบถอดยศเป็นระเบียบที่ใช้แก่เอกชนทั่วไป เพราะใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งมิได้มีสถานะเป็นตำรวจด้วยซึ่งต้องประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่ผู้ที่มีอำนาจให้ความเห็นในเรื่องนี้คือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการอาจให้ความเห็นได้ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้ระเบียบถอดยศในการดำเนินการถอดยศตำรวจมาเป็นจำนวนมากแล้วเมื่อมีกรณีที่อาจถอดยศได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องดำเนินการตามระเบียบต่อไป

"ข้อเสนอ"
กระผมและผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว มีข้อเสนอร่วมกันโดยสรุปดังนี้

เห็นสมควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการถอดยศพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ. 2547 ด้วยเหตุผลดังนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบถอดยศ โดยใช้อำนาจภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และสามารถใช้บังคับได้ทั้งกับข้าราชการตำรวจและ ผู้ที่พ้นจากราชการตำรวจแล้ว ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ ปี พ.ศ. 2554

ระเบียบถอดยศ เป็นระเบียบภายในซึ่งใช้ในราชการตำรวจเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลใช้บังคับกับเอกชนทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องนำระเบียบดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินการถอดยศตามระเบียบถอดยศข้าราชการตำรวจทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนแล้ว รวม 632 ราย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งได้เคยมีความเห็นเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ที่สมควรถอดยศตาม ของระเบียบถอดยศ

เนื่องจากขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการว่าระเบียบถอดยศต้องประกาศราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หรือไม่

ดังนั้น ก่อนการดำเนินการถอดยศตามข้อเสนอ ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาจรอความเห็นจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการใช้ดุลพินิจก่อนพิจารณาดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร ก็ได้ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วก็ควรพิจารณาดำเนินการถอดยศบุคคลอื่นที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้วและมีเหตุจะต้องถอดยศตามระเบียบถอดยศ ไปในแนวทางเดียวกันด้วย” หนังสือดังกล่าวระบุ

 

กำลังโหลดความคิดเห็น