“พล.อ.ไพบูลย์” เผยที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาถอดยศ “ทักษิณ” มีมติถอดยศได้ เข้าหลักเกณฑ์ของ สตช. ปี 47 ผิดในข้อ 2 ฐานต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก กฤษฎีกาเคยตอบ และ สตช. เคยมีคำวินิจฉัยตั้งแต่ปี 54 แล้ว โยน ผบ.ตร. ต้องตัดสินใจขั้นสุดท้าย เผยนับแต่ปี 47 ถอดยศตำรวจแล้ว 632 ราย
วันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันกุล ที่ปรึกษา (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการฤษฎีกา ซึ่งใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า จากการพิจารณาตามข้อกฎหมายและหลักการ ที่ประชุมมีมติให้สามารถถอดถอนยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ. 2547 ซึ่งระเบียบดังกล่าวสามารถใช้กับบุคคลที่ยังรับราชการและอยู่นอกราชการได้ โดยทางกฤษฏีกา ระบุว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในราชการตำรวจ และเคยตอบมาแล้วเมื่อปี 2554 ส่วนเรื่องที่สงสัยว่า ตร. ประกาศถอดยศจำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ไม่จำเป็นเพราะเป็นเรื่องภายในราชการตำรวจ และทั้งสองประเด็นนี้ สตช. ได้เคยสอบสวนเมื่อปี 52 - 53 - 54 และได้ลงมติเรื่องการถอดยศมาแล้ว และในปี 2554 ก็มีคำวินิจฉัยของ สตช. ว่า ผิดในข้อ (2) ต้องคำพิพากษาศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุกเว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ซึ่งพิจารณาถอดยศได้ ต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อสอบถามว่าทำไมไม่ทำให้ครบในข้อ 6 ประเด็นการหลบหนี ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน
ส่วนอีกประเด็น คือ คณะทำงานได้พิจารณาประเด็นการประกาศรายชื่อตำรวจในราชกิจจานุเบกษา ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ซึ่งทางสำนักตำรวจแห่งชาติได้ส่งหนังสือไปยังกฤษฎีกา ว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ได้บังคับใช้ก่อนระเบียบการถอดยศปี 2547 ทั้งนี้ กฤษฎีกาตอบกลับว่าทำได้ เพราะเป็นเรื่องภายใน และเมื่อถามเรื่องนี้ทาง สตช. ได้ใช้การถอดยศไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 632 คน โดยไม่ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ส่วนกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีมติถอดยศมาแล้วตั้งแต่ปี 52 - 58
“การประกาศถอดยศไม่ได้มีการประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นการประกาศใช้ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้น ในกฎหมายดังกล่าวสามารถใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากระเบียบข้อนี้มีการตีความแล้วใช้กับทุกคนที่รับราชการและไม่ได้รับราชการ” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ระเบียบข้อดังกล่าวได้ใช้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว 632 นาย ก็ไม่มีเหตุใดที่จะไม่ต้องใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ผบ.ตร. เป็นเรื่องของกระบวนการภายใน สตช. ซึ่ง ผบ.ตร. ก็มีหนังสือไปถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร โดยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แจ้งมาว่า อาจใช้ดุลพินิจในการรอคำตอบ เพราะตนไม่สามารถไปมีอำนาจในการสั่งการ ผบ.ตร. ได้ ซึ่ง ผบ.ตร. จะคอย แต่คณะกรรมการชุดนี้เห็นว่า ไม่มีเหตุอันใดที่จะละเว้นในการที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบหน้าที่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และขณะเดียวกัน ก็ทราบว่า มีข้าราชการตำรวจทั้งในและนอกราชการได้ดำเนินการให้เท่าเทียมกันกับทุกคน หลังจากนี้ จะทำหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งการต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าสามารถถอดถอนยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นอื่น ๆ เป็นหน้าที่ของ ผบ.ตร. ซึ่งตนไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาด้วยว่าจะต้องมีกรอบเวลาในการถอดหรือไม่อย่างไร เพราะตนมีหน้าที่พิจารณาและเสนอนากยกรัฐมนตรีเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถาม พล.ต.อ.ชัยยะ ว่า ได้มีการนำข้อมูลสถิติดังกล่าวไปรายงานให้ ผบ.ตร. ทราบหรือไม่ พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวรายงานให้ ผบ.ตร. ได้ทราบมาโดยตลอด กรณีที่ตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการได้มีมติในการพิจารณาเนื้อหาสาระเกี่ยวเนื่อง โดยเข้าองค์ประกอบความผิดทั้ง 6 ข้อ ตามระเบียบการถอดยศ หรือพฤติกรรม ซึ่งเราก็ได้เสนอไป แต่อำนาจการถอดยศเป็นดุลพินิจของ ผบ.ตร.
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาครั้งนี้หวั่นว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนขอไม่ตอบเรื่องนี้
“เรื่องดังกล่าวเข้าองประกอบใน 7 ข้อ ที่สามารถถอดยศได้ มันไม่ข้อไหนเลย แต่มันติดแค่ประกาศหรือไม่ประกาศใช้” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
w