ASTV ผู้จัดการ - เดินหน้าถึงจุดไคลแมกซ์ คดีปริศนาฆาตกรรม “เสี่ยชูวงษ์” ทีเด็ดคลิปเสียงสั่งโอนหุ้นกว่า 200 ล้าน ตรวจพิสูจน์แล้วถึงกับผงะ! กลายเป็นเสียงจอมบงการ แฉใช้แผนนารีพิฆาต พบพิรุธส่งเมียเก็บสาวสวยเข้าเตรียมฮุบหุ้นล่วงหน้า ขณะที่นครบาลทำท่าจะเป็นจำเลยสังคมเสียเอง ทั้งเพื่อนร่วมรุ่น “บรรยิน” กับ “ธงอุบัติเหตุ”
งวดเข้ามาทุกขณะกับคดีอุบัติเหตุหรือฆาตกรรมอำพราง นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เศรษฐีพันล้าน ที่เสียชีวิตภายในรถยนต์หรู “เลกซัส” ระหว่างเดินทางกลับจากตีกอล์ฟกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาบริเวณซอยเฉลิมพระเกียรติ 48-50 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.
หลังเกิดเหตุญาติได้นำเรื่องร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. และกองปราบปราม จึงทำให้มีตำรวจเข้าร่วมคลี่คลายคดีนี้ 2 หน่วยด้วยกัน คือ ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. และ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหาญพิทักษ์ ผบช.ก. โดยขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีได้ปรากฏโฉมหน้าออกมาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล แคดดี้สาวผู้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “เสี่ยชูวงษ์” จนตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน และยอมรับว่าได้รับการโอนหุ้นจำนวนหนึ่งจากผู้ตายจริง แต่เป็นการโอนให้ด้วยความสิเน่หา
ขณะเดียวกัน มีสาวสวยอีกคนหนึ่งซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญเข้ามาร่วมพัวพันด้วยและอยู่ในข่ายที่พนักงานสอบสวนจะต้องเค้นหาความจริง คือ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด และ น.ส.ศรีธรา พรหมมา มารดาได้เดินทางพบพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเป็นที่เรียบแล้วเช่นกัน มีรายงานว่าแม้โบรกเกอร์สาวรายนี้จะปิดบังข้อเท็จจริงบางประการ เช่น เอกสารใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์ ของบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี วันที่ 8 มิ.ย. 2558 ระบุชื่อนายชูวงษ์ แต่เขียนนามสกุลผิดจากแซ่ตั๊ง เป็นแซ่ตั้ง มีข้อความระบุว่ามีความประสงค์โอนหลักทรัพย์ภายในบัญชีบริษัทให้กับ น.ส.ศรีธนา พรหมมา 3 ตัว แบ่งเป็นหุ้นบีบีซี 50,000 หุ้น เป็นเงิน 9.75 ล้านบาท, หุ้นซีพีเอ็น 400,000 หุ้นเป็นเงิน 46 ล้านบาท และหุ้นพีทีทีอีพี 60,000 หุ้น เป็นเงิน 40 ล้านบาท โดยการโอนหุ้นทั้ง 3 ตัวมีชื่อ น.ส.อุรชา ลงนามเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี รวมทั้งมี น.ส.สุรดา เที่ยงธรรม หัวหน้าฝ่ายการตลอด บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี เป็นผู้ลงนามอนุมัติ
จากข้อมูลดังกล่าว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด น.ส.อุรชา จึงเป็นผู้ทำธุรกรรมการโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ดูแลหุ้นให้ อีกทั้งการที่ น.ส.สุรดา เที่ยงธรรม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายการตลาด ทำไมไม่ท้วงติง นอกจากนั้น ตัวละครอีกคนหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ น.ส.ศรีธรา มารดา น.ส.อุรชา ก็อ้างว่าเมื่อรับคำสั่งจากเสี่ยชูวงษ์โอนหุ้นให้ลูกสาวจึงจำเป็นต้องโอนไปยังบัญชีของตนเนื่องจากติดกฎระเบียบข้องบังคับของบริษัท
ขณะที่การสอบสวนดำเนินไปอย่างเข้มข้น หลักฐานต่างๆ เช่น คลิปเสียงของนายชูวงษ์ ที่เคยบันทึกไว้และญาติได้นำมามอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อเปรียบเทียบกับคลิปเสียงวันสั่งโอนหุ้นนั้น มีรายงานข่าวว่า จากการพิสูจน์ทราบด้วยวิทยาการสมัยใหม่ระบุว่า ไม่ตรงกับเสียงของเสี่ยชูวงษ์ แต่เมื่อนำไปเทียบเคียงกับผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งซึ่งสังคมกำลังจับตาในฐานะจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ปรากฏว่าตรงกันพอดี จุดนี้เองจึงเพิ่มความมั่นใจให้แก่ทีมงานสืบสวนกองปราบปรามเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวด้วยว่า จากการสืบสวนในทางลึกยังพบความสัมพันธ์ลับของสาวสวยในแวดวงโบรกเกอร์คนหนึ่งที่มีต่อกลุ่มก๊วนกอล์ฟ “เสี่ยชู-บรรยิน” ด้วยว่า ก่อนหน้าเกิดเหตุปริศนาฆาตกรรมนั้นมี “ไอ้โม่ง” จอมวางแผนส่งสาวสวยซึ่งเชื่อว่าเป็นเมียเก็บจึงมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง เข้าไปทำงานในบริษัทหุ้นแห่งหนึ่ง ก่อนมีการย้ายพอร์ตการลงทุน เมื่อถึงขั้นตอนนี้ก็สามารถล้วงหุ้นจากเสี่ยชูวงษ์ไป แล้วอุบัติเหตุที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงใจจึงถูกกำหนดขึ้น
มีรายงานด้วยว่า สาวสวยดังกล่าวน่าจะมีสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชายในก๊วนกอล์ฟ “เสี่ยชู-บรรยิน” อย่างน้อย 2 คน คือ จอมบงการ และเหยื่อผู้น่าสงสาร จากการสืบสวนทราบว่า นอกจากพบปะกันในสังคมกอล์ฟยังเคยร่วมเดินทางไปยังอังกฤษในฐานะคนติดตามผู้เข้าอบรมหลักสูตรวิทยาลัยตลาดหลักทรัพย์ซึ่งแนวทางสืบสวนสอบสวนต่างๆ นั้นขณะนี้กำลังแคบเข้ามาทุกขณะ รวมทั้งคลิปเสียงสั่งโอนหุ้นซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นเสียงของจอมบงการ ไม่ใช่เสียงของ “เสี่ยชูวงษ์” อย่างแน่นอน เพราะเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้กับโบรกเกอร์เป็นเบอร์ของคนอื่น ไม่ใช่เบอร์เสี่ยชูวงษ์
สำหรับรถยนต์เลกซัส ทะเบียน ภฉ 1889 กรุงเทพมหานคร อันเป็นพาหนะมรณะ มีรายงานว่าหลักฐานต่างๆ ได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นแล้ว เนื่องจากหลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุจึงไม่เก็บรักษารถไว้เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ ขั้นตอนทั่วไปจึงส่งรถซ่อม แม้จะยังไม่ลงมืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่การที่มีบุคคลอื่นๆ เข้าไปเคลื่อนย้าย รื้อค้น จึงเท่ากับเป็นผู้ทำลายหลักฐานไปอย่างน่าเสียดายโดยไม่เท่าทันเกมจอมบงการนั่นเอง ต่อจากนี้คือผลวิเคราะห์จากผู้ชำนาญ ข้อสงสัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบถุงลมนิรภัย ร่องรอยการชน แรงกระแทกซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมากนักรวมทั้งพื้นที่เกิดเหตุเช่นกัน เมื่อการสอบสวนเบื้องต้นฟันธงว่าเป็นคดีอุบัติเหตุ พยานหลักฐานต่างๆ ย่อมถูกทำลายจนไม่สามารถปะติดปะต่ออะไรได้
นั่นคือความคืบหน้าของทีมสืบสวนกองปราบปราม แต่ในส่วนของตำรวจนครบาล นำโดย พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวช รอง ผบช.น. แนวทางพลิกไปคนละด้าน ส่อเน้นไปทางอุบัติเหตุมากกว่าการฆาตกรรมอำพราง ทั้งนี้ จากการแสดงความเห็นของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าได้รับรายงานจาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.ว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ เป็นการฆาตกรรม ตนได้กำชับให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน “ท่านศรีวราห์เป็นคนตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ไม่มีปกป้องไม่ต้องกล่าวว่าเป็นตำรวจตกเป็นผู้ต้องสงสัยแล้วเราจะปกป้องช่วยเหลือ ยืนยันว่าไม่มี ส่วนกรณี พ.ต.อ.ทวีรัชต์ ศรีธวัชพงศ์ รอง ผบก.น.4 หัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อนร่วมรุ่น นรต.39 ของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็นเหตุผลที่จะรับฟังเพื่อเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนได้หรือไม่นั้น หากพยานหลักฐานบอกว่าเป็นฆาตกรรม ต่อให้เป็นเพื่อนก็ช่วยกนไม่ได้ ไม่มีทาง”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นญาติผู้ตายร้องเรียนให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพนักงานสอบสวน เนื่องจากไม่ไว้ใจเพราะเป็นเพื่อน นรต.รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์นั้น จากการสืบค้นข้อมูลของทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการ พบว่าไม่ปรากฏชื่อ พ.ต.อ.ทวีรัชต์ ศรีธวัชพงศ์ แต่อย่างใด และทราบภายหลังว่าได้เปลี่ยนชื่อเดิมจาก “ชโลธร” มาเป็น “ทวีรัชต์” ได้นานหลายปีแล้ว