“บิ๊กต๊อก” เรียกประชุมหน่วยงานยุติธรรมทั่วประเทศ เช็กงานทุกกรมในสังกัด ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กำชับภารกิจต้องชัดเจนเข้าถึงประชาชน
วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต กทม. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ร้ฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนโรดแมป กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พร้อมรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการพัฒนาหน่วยงานในอนาคต โดยมีคณะผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมการประชุม เช่น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมถึงห้วหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน เช่น นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมทั่วประเทศ
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ตนมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปตรวจงานของแต่ละหน่วย พบว่ายังมีบางเรื่องที่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาของประชาชน และการแก้ไขปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งผู้บริหารระดับกลางไม่สามารถนำนโยบายให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตนจึงเชิญผู้บริหารของกระทรวงทั่วประเทศมาร่วมประชุมพร้อมกัน เพื่อต้องการให้ผู้บริหารได้เห็นงานของกระทรวงอย่างเป็นระบบ เพราะเรามีการแบ่งงานเป็น 6 กลุ่มงาน คือ 1. ด้านการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 2. ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือด้านสร้างความปลอดภัยในสังคม 3. ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4. ด้านการป้องกันและปราบปรามกรทุจริตในภาครัฐ 5. ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ และ 6. ด้านการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
ทั้งนี้ ตนต้องการให้ข้าราชการของกระทรวงทำงานแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในแต่ละกรม อีกทั้งเนื้อ งานของบางกรมยังมีความเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กองทุนยุติธรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมที่เชื่อมโยงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นอกจากนี้ ตนอยากเห็นข้าราชการของกระทรวงสามารถขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชาของกระทรวงได้ และเข้าใจงานของกระทรวงอย่างแท้จริง
รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า ตนได้ของบประมาณจากนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงยุติธรรมในการจัดการประชุมทางไกลแล้ว เนื่องจากเห็นว่าการประชุมแต่ละครั้งผู้บริหารในระดับภูมิภาคจะต้องเดินทางไกลเพื่อมาประชุม อีกทั้งการทำงานแบบนี้จะทำให้งานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลงไปสู่ประชาชนได้มากขึ้น ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้มีหน่วยงานไหนบ้างที่ยังทำงานไม่เข้าเป้า พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า คิดว่าทุกกรมของกระทรวงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งข้าราชการในหน่วยงานแต่ละกรมก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ต้องให้เวลาข้าราชการปรับตัวในการทำงาน ทั้งนี้ ตนไม่ได้มองในเชิงตำหนิ แต่มองจากปัญหาที่พบเห็น ซึ่งจะต้องมีการสร้างแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายของกระทรวงลงไปสู่ประชาชนได้มากขึ้น
ในส่วนของปัญหายาเสพติดที่ประชาชนยังรู้สึกว่าปัญหายาเสพติดไม่หมดไปจากสังคม พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า สำนักข่าวกรองของสหรัฐอเมริการะบุว่าปัญหายาเสพติดของประเทศในขณะนี้มีปริมาณลดลงกว่าที่ผ่านมา แต่ที่ประชาชนยังรู้สึกว่ายาเสพติดยังไม่ลดลงนั้นเนื่องจากยังมีการค้ายาเสพติดตามแหล่งชุมชนต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอธิบดีในครั้งใหญ่หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ารัฐมนตรีได้พูดถึงปัญหาการบริหารงาน เช่น กรมคุมประพฤติ รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ตนไม่ได้ตำหนิ แต่ที่พูดนั้นก็เพื่อให้ข้าราชการในกระทรวงที่ไม่ใช่เฉพาะกรมคุมประพฤติเข้าใจระบบงานของกระทรวง ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มานาน เพราะเราเห็นข้อบกพร่องในการจัดรูปแบบอาสาสมัครคุมประพฤติซึ่งจะเชื่อมโยงกับการตัดสินคดีของศาลในระบบคุมประพฤติ โดยวันนี้เราจะต้องยกระดับของการคุมประพฤติให้เป็นวาระของกระทรวงฯ
เมื่อถามว่าความไม่ประสบผลสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากตัวบุคคลหรือโครงสร้าง พล.อ.ไพบูลย์ระบุว่า เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด 33 ปีที่ผ่านมาเรามีอาสาสมัครกรมคุมประพฤติอยู่ประมาณ 1,500 คน แต่มีอยู่ 5,000 ตำบลทั่วประเทศ การคุมประพฤติก็ไม่ทราบว่าจะมีผู้ถูกคุมประพฤติอยู่ในครอบคลุมทุกตำบลหรือไม่ และ 70,000 กว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ ควรจะมีอาสาสมัครให้ครบทุกหมู่บ้านให้ได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น