“บิ๊กต๊อก” เรียก 4 หน่วยงานประชุมคืบหน้าคดีมั่นคง และ ม. 112 เพิ่มกลุ่มแนวร่วมในกลุ่มเฝ้าระวัง เผย บางรายมีความผิด ม.116 พ่วงท้าย ชี้อาจใช้เป็นช่องทางขอส่งตัวกลับ
วันนี้ (14 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ครั้งที่ 2/2558 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานอัยการ และกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าคดีความมั่นคงและหมายจับผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบัน
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าการติดตามกลุ่มเฝ้าระวังและกลุ่มที่ออกหมายจับในคดีความผิดมาตรา 112 จำนวน 135 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. คนอยู่ต่างประเทศที่ถูกออกหมายจับ 2. คนที่อยู่ในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง 3. บุคคลที่กำลังติดตามพฤติกรรม และ 4. กลุ่มบุคคลที่มีหมายจับ ซึ่งในวันนี้ได้มีการจำแนกเพิ่มอีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มแนวร่วม อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายประสานการต่างประเทศได้ส่งรายชื่อผู้กระทำความผิดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ทางการไทยสืบทราบว่าผู้กระทำได้ไปหลบหนีอยู่ประเทศนั้น ๆ ส่วนฝ่ายไอซีที ได้มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางสื่อสังคมออนไลน์ และประสานกองทัพ เพื่อความเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งหมด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบในเรื่องของการกระทำผิดซ้ำจากการนำข้อความผิดมาเผยแพร่ซ้ำด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ตร. จะให้ขยายการทำงานไปยังสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ รวมถึงกองอำนวยการการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 1 - 4 ซึ่งจะเป็นลักษณะของศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกันทั้งระบบ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปดำเนินการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในด้านการประชาสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องสื่อ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ รวมถึงการสร้างหลักสูตรทางการศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ทางอัยการได้รายงานความคืบหน้าของคดี ซึ่งตนทราบว่าบางคนได้มีการกระทำความผิดทางคดีอาญา นอกเหนือจากคดีมาตรา 112 ด้วย ซึ่งเราอาจใช้ช่องทางนี้ในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากกฎหมายมาตรา 112 ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
“ผมพูดตั้งนานแล้วว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าต่างประเทศจะเข้าใจเรา ผมไม่ได้หวังว่าจะใช้มาตรา 112 เพื่อขอให้ต่างประเทศส่งตัวผู้ต้องหากลับมา ซึ่งเป็นคำตอบที่รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อยากขอให้ทางต่างประเทศเข้าใจทัศนคติของคนไทย” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
สำหรับการส่งรายชื่อผู้กระทำผิดให้กับต่างประเทศ ตนได้ชี้แจงให้ต่างประเทศฟังว่า ต้องแยกคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 ออกจากกัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักใช้ประเด็นทางการเมืองมารวมกับคดีมาตรา 112 เพื่อขอลี้ภัยไปยังต่างประเทศนั้น ๆ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับรายชื่อผู้กระทำผิด 3 ราย ที่ส่งให้กับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา มีความผิดในคดีความมั่นคง มาตรา 116 ด้วยหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้มีการระบุในรายละเอียดของพฤติกรรมไปด้วย เนื่องจากมีพฤติกรรมการกระทำความผิดจริง ซึ่งเรื่องนี้เราจะดูเป็นรายบุคคล ยืนยันว่า ไม่ใช่การยัดเยียดข้อกล่าวหา และต้องดูว่าความผิดตามมาตรา 116 มีกฎหมายพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยหรือไม่