“บิ๊กต๊อก” เปิดเวทีถกการพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย แก้ปัญหาทุจริตระหว่างประเทศ เพื่อจะได้เป็นกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่ล้าสมัย ระบุหากผลการชี้แจงของเลขาฯ สปสช.ต่อ สตง.พบว่าไม่มีข้อบกพร่องถึงขั้นเป็นโทษก็ต้องคืนตำแหน่ง
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ “การพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA) เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริต” โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนจากบรูไน สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา และลาว เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีวิทยากรจาก OEDC ประเทศแม็กซิโก ออสเตรเลีย และมาเลเซียร่วมบรรยายอีกด้วย
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การทำกฎหมายเพื่อออกมาบังคับใช้นั้นเราต้องดูว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง เราเคยมีแต่ไม่มีการนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง และไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งกฎหมายแต่ละประเภทที่มีอยู่ก็ยังเขียนไม่ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายบางตัวเขียนเป็นภาพกว้างจึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจ โดยก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินสังคมบอกว่าเวลารัฐบาลออกกฎหมายก็ออกเฉพาะเจ้าหน้าที่กระทรวง ไม่มีการสอบถามในส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ก็เป็นอีกหัวข้อในการประเมิน และจะต้องทำทั้งก่อนและหลังออกกฎหมาย เพื่อประเมินว่ากฎหมายที่ออกไปนั้นสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือมีข้อบกพร่องตรงไหนอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเราก็จะต้องถูกประเมินตลอดว่ากฎหมายมีความล้าสมัยเกินไป และไม่เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่ เช่น กฎหมายราชทัณฑ์ของกระทรวงยุติธรรม ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2479 ปัจจุบันไม่เป็นมาตรฐานสากลจึงต้องถูกประเมิน อีกทั้งรัฐบาลนี้ก็มีพระราชบัญญัติออกมาแล้วกว่า 5 ปี โดยทุกกระทรวงต้องยืนยันกฎหมายที่ใช้อยู่ หากไม่ยืนยันก็จะเป็นความผิดของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ไม่เช่นนั้นกฎหมายของเราก็จะล้าสมัย
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า กระทรวงยุติธรรมมีคณะกรรมการพัฒนากฎหมายแห่งชาติ และสำนักงานบริหารยุติธรรม โดยทั้งสองหน่วยงานควรเป็นหน่วยงานที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางเกี่ยวกับกรอบกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่ไปยุ่งเกี่ยวกับรายละเอียดในการตัดสิน ซึ่งตนกำลังผลักดันในการพัฒนากฎหมาย ที่มันมีหน้าที่อยู่แล้ว เพราะจะเห็นว่ายุทธศาสตาร์ในด้านกฎหมาย หรือแนวทางกฎหมายของไทยจะไม่มีหน่วยงานไหนทำ จึงต้องเป็นหน่วยงานนี้ทำ อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งการจัดทำกฎหมายให้เป็นระบบที่ชัดเจน
“การประชุมครั้งนี้มีประเทศในอาเซียนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งบางประเทศก็ได้เริ่มทำกฎหมายให้เป็นระบบแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และเราจะต้องนำเอาข้อดีและข้อเสีย หรือปัญหาที่ประเทศนั้นพบมาปรับปรุง พัฒนาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เพื่อจะได้เป็นกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่ล้าสมัย และติดตามกฎหมายพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรม” รมว.ยุติธรรมกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการทุจริตในรอบที่ 3 ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนไหน พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้ามายังตนเนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปอย่างไรแล้วก็จะส่งผ่านมายังนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขานุการ ศอตช.
เมื่อถามว่า กรณีของเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทางบอร์ดบริหารของ สปสช.ออกมาระบุว่าในระเบียบสามารถเปิดให้ทำได้ ไม่ผิดวัตถุประสงค์ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้แจงแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยกันว่าปัญหาและมูลเหตุคืออะไรจึงทำให้มีการชี้ประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา พร้อมกับให้แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย ทั้งนี้ ตนเคยบอกแล้วว่าถ้าใครคนไหนมีความสงสัยในเรื่องใดก็ให้ทำหนังสือมา ตนก็จะให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้ชี้แจง อย่างไรก็ตาม ตนไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของรายละเอียดเพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ตรวจสอบ ซึ่ง สตง.ก็เป็นองค์กรอิสระ
เมื่อถามว่า จะมีการคืนตำแหน่งให้เลขาฯ สปสช.หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ สตง.จะต้องรายงานมาว่าหลังจากชี้แจงแล้วทำความเข้าใจกันแล้ว และหากผลของการชี้แจงไม่มีข้อบกพร่องถึงขั้นเป็นโทษก็ต้องคืนตำแหน่ง กรณีนี้ก็ต้องฟังทางผู้ว่าฯ สตง. อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า สตง.มีความมั่นใจในการชี้แจงให้ทางเลขาฯ สปสช.ทราบ และมีหลักฐานจริง ทั้งนี้ตนจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของรายละเอียดแต่อย่างใด แต่ถ้าได้ข้อสรุปแล้วก็ขอให้รายงานมา