xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ถก 9 หน่วยงาน เร่งรัดคดีค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“บิ๊กต๊อก” ถก 9 หน่วยงาน เร่งรัดคดีค้ามนุษย์ พร้อมตั้งทีมเฉพาะกิจสอบเหยื่อค้ามนุษย์ เด็ก - เยาวชน คาดหวังจัดอันดับในครั้งต่อไปจะมีผลที่ดีขึ้น


วันนี้ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 1/2558 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตต์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักษ์ศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผอ.ศูนย์อำนวยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ ตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมอเมริกาและแปซิกฟิก โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง คือ 1. ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางขึ้นมารับผิดชอบหรือรองรับการดำเนินคดี การพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ หรือจัดให้มีช่องทางด่วนพิเศษสำหรับคดีการค้ามนุษย์ 2. มาตรฐานการดำเนินคดี ซึ่งประกอบด้วย การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลย การให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวน การสืบพยายล่วงหน้า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพิจารณาคดี เช่น การสืบพยานทางจอภาพ และการติดตาม ยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด 3. มาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ และ 4. การจัดทำฐานข้อมูลคดีการค้ามนุษย์ให้เป็นระบบและเชื่อมโยงกัน

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้มอบหมายให้ตนมาดำเนินการประชุมร่วมกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยการประชุมครั้งนี้ได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น ซึ่งมีหน่วยงานหลัก คือ ตร. ดีเอสไอ และ พม. ที่รับผิดชอบในเรื่องของการป้องกันและปราบปราม และให้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ ปปง. เป็นหน่วยงานสนับสนุน เพราะอาจมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาข้าราชการ และการยึดทรัพย์ และให้สำนักงานอัยการ ศาลยุติธรรม และกรมสรรพากร ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาที่พบเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการสอบสวน จึงต้องมีห้องสอบสวนพิเศษ และมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวน โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดจะใช้สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ส่วนในกรุงเทพฯ จะให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักในการนำตัวเด็กและเยาวชนไปสอบสวน เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม หลังจากนี้ ตนจะรายงานให้ พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบ และขอขยายหน่วยงานของพม.เข้าไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดูแลคดีการค้ามนุษย์ในกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทำตามข้อท้วงติงของรายงานทิป รีพอร์ต ทุกข้อที่มีการท้วงติง แต่บางเรื่อง บางข้อ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ขอยืนยันว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามทุกขั้นตอนแล้ว และหวังว่าการจัดอันดับในครั้งต่อไปจะมีผลที่ดีขึ้น” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การประกันตัวผู้ต้องหานั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงอยากให้พนักงานสอบสวนทั้ง ตร. ดีเอสไอ และ พม. ได้เขียนรายละเอียดของสำนวนให้ครบถ้วนมากขึ้น เพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการให้ประกันตัวหรือไม่ประกันตัวอย่างไร ทั้งนี้ การสอบสวนจะให้อัยการมาร่วมทำการสอบสวนด้วย นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศและต้องการสืบพยานล่วงหน้า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วม กต. ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการสอบสวนพยานที่อยู่ต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาให้การยังประเทศไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้จะให้ กต. เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย อย่างไรก็ตาม ภายใน 1 เดือนนี้ ดีเอสไอ พม. ตร. และอัยการ จะช่วยกันออกพระราชกำหนดพิเศษ ว่า จะมีการประสานและการใช้เครื่องมือการสอบสวนระหว่างประเทศอย่างไร

รมว.ยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการติดตามยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนของ ตร. และดีเอสไอ มีอำนาจในการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินได้อยู่แล้ว แต่การสอบสวนและตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยจะให้ ปปง. เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้มีการออกข้อตกลงร่วมกันแล้ว โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ส่งให้พม.แล้วร้อยละ 70 - 80 ทั้งนี้ ตนได้ตั้ง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ เป็นเลขานุการศูนย์ฯ ในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ตนจะรายงานให้ พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบ เพื่อนำข้อมูลไปชี้กับ กต. ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น