ผู้พิพากษาค้านร่าง รธน. เพิ่มสัดส่วน ก.ต. คนนอก และอุทธรณ์โทษวินัยสำเร็จ หลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยอมถอย พร้อมชี้กฎหมายใหม่ ป.ป.ช. โทษประหารชีวิต อุดช่องโหว่คดีนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติทุจริตคอร์รัปชัน หรือโกงเลือกตั้ง แนะให้บังคับใช้ กม. อย่างจริงจังเหมือนต่างประเทศ
ความคืบหน้ากรณี นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและผู้พิพากษาจำนวน 1,380 คน ร่วมลงชื่อคัดค้านคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอก มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติ ก.ต. ได้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (13 ก.ค.) นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้นำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 พร้อมรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 2,079 คน ที่ลงชื่อคัดค้านในประเด็นผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัย มีสิทธิอุทธรณ์มติของ ก.ต. ได้นั้น ไปยื่นให้กับ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะมีการประชุมที่โรงแรมเอเชียพัทยาในช่วงเช้าวันนี้
นายศรีอัมพร กล่าวว่า ล่าสุด เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ตนได้รับทราบว่าในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีมติยอมแก้หลักการร่างรัฐธรรมนูญตามที่เราร้องขอ โดยไม่ให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัย ไม่มีสิทธิอุทธรณ์มติของ ก.ต. แต่ยังคงนำระบบเดิมของศาลยุติธรรมมาใช้ คือ ยังสามารถยื่นเรื่องให้ ก.ต. ทบทวนการพิจารณาลงโทษทางวินัยได้ ซึ่งปัจจุบันศาลยุติธรรมก็ใช้ระบบนี้อยู่แล้ว เท่ากับว่าทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯยอมรับฟังความเห็นของกลุ่มผู้พิพากษาที่ร่วมลงรายมือชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ และยอมรับฟังปัญหาของศาลยุติธรรมโดยยอมแก้ไขทั้ง 2 ประเด็น โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯมีมติยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งประเด็นสัดส่วนของ ก.ต. ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และในวันนี้ได้มีมติยกเลิกให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติ ก.ต. ได้ แต่อาจจะมีการเขียนกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป
ขณะเดียวกัน นายศรีอัมพร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะนักกฎหมายและนักอาชญาวิทยา ยังกล่าวถึงกรณีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะในมาตรา 123/2 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต รวมทั้ง มาตรา 123/3 ซึ่งเป็นการเพิ่มโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ว่า การที่ ป.ป.ช. ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ เหตุผลเพื่อเป็นการให้ครอบคลุมต่อผู้กระทำผิด เป็นการอุดช่องโหว่ของกฎหมายตัวเก่า โดยเฉพาะคดีทุจริตคอร์รัปชัน หรือเรียกรับสินบนเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีข้อสังเกตว่าในคดีที่ทาง ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนชี้มูลสามารถเอาผิดได้ทั้ง 2 ข้อหา คือทั้งตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/2 และกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดจริง ก็จะสามารถลงโทษตามบทหนักสุด ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิตได้ ขณะเดียวกัน กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา มาตรา 123/3 นั้น ยังครอบคลุมไปถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สิน สามารถเอาผิดได้ทั้งก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งและเอาผิดขณะดำรงตำแหน่งได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่านักการเมืองลงสมัครเลือกตั้ง โดยมีการเรียกรับสินบน หรือซื้อคะแนนเสียงเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดๆก็ตาม หากตรวจสอบพบในภายหลังแม้ว่าจะเป็นการกระทำผิดก่อนที่จะเข้าสู่การดำรงตำแหน่งนั้น กฎหมายก็ครอบคลุมสามารถเอาผิดได้ทั้งหมด
นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะมีการเพิ่มโทษที่หนักมากขึ้น แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ การบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างมีปัญหา จะเห็นได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันของไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ทั้งการสืบสวนสอบสวนและการจับกุมเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องนั้นจะต้องทำให้ได้ และจะต้องไม่มีการวิ่งเต้นคดีความ ไม่มีการยกเว้นและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย ไม่เช่นนั้นต่อให้กฎหมายหนักมากแค่ไหนก็คงจะไม่มีผล จึงต้องบังคับใช้ให้เกิดความเข้มแข็งเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อทำให้รัฐไทยโปร่งใสและมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี
“ข้อดีกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. คือ ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด มีโทษปรับที่สูงขึ้นและมีโทษถึงประหารชีวิต สามารถฟ้องได้ทั้ง 2 ข้อหาเพื่อให้ศาลลงโทษบทหนักสุด และสามารถเอาผิดได้ทั้งก่อนเข้าสู่ตำแหน่งและขณะดำรงตำแหน่งด้วย คาดว่า ป.ป.ช. ซึ่งทำคดีทุจริตของรัฐอาจจะพบจุดอ่อนตรงนี้ จึงออกกฎหมายใหม่เพื่ออุดรอยรั่วช่องโหว่ของกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างมีปัญหา” นายศรีอัมพร กล่าว
เมื่อถามว่า กฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. นี้ จะมีผลต่อคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือไม่ นายศรีอัมพร กล่าวว่า หลักกฎหมายไม่มีผลให้โทษย้อนหลังไปยังผู้กระทำผิด จะมีผลย้อนหลังได้เฉพาะให้คุณเท่านั้น เช่น คดีลักทรัพย์ ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท แต่กฎหมายตัวใหม่กำหนดโทษลดลงเหลือแค่ 2 ปี ปรับ 4.000 บาท เมื่อศาลพิพากษาก็จะต้องลงโทษตามกฎหมายตัวใหม่ที่เบากว่า ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล