ที่ประชุม ก.ตร. มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางให้นับวันทวีคูณราชการ “พล.ต.ท.ศรีวราห์” ผบช.น. ส่วนการเยียวยาต้องรอสิ้นปี เพราะมีตำแหน่งย้ายไป หรือเกษียณอายุราชการ จะไปกำหนดตำแหน่งใหม่ไม่ได้
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2558 โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธาน ก.ตร. ทำหน้าที่ประธาน แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ประธานก.ตร. ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ขณะที่ ก.ตร. เข้าร่วมประชุมมีเพียง 6 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.สมยศ พล.ต.อ.ชนินทร์ ปรีชาหาญ จเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. ขณะที่ พล.อ.ประวิตร พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และ นายนนทิกร กาญจนจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่ได้เข้าประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อ ก.ตร. เข้าประชุมพร้อมเพรียง และกำลังจะเริ่มการประชุม ปรากฏว่า พล.ต.ท.วิชาญ ทองประชาญ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในฐานะเลขานุการ ก.ตร. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้ ก.ตร. หลายคน ทักท้วงว่าการประชุมโดยไม่มีเลขานุการ ก.ตร. อาจถูกฟ้องร้องภายหลัง โดยผู้แทนได้ชี้แจงว่า พล.ต.ท.วิชาญ ชี้ว่า ตนเองถูก พล.ต.ท.ศรีวราห์ ฟ้องอาญาสืบเนื่องจากการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 8/2558 ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีสภาพร้ายแรง ถือว่ามีส่วนได้เสีย ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงไม่ขอร่วมประชุม แต่ต่อมา ก.ตร. ได้พิจารณาให้ พล.ต.ท.วิชาญ ร่วมประชุม โดยระหว่างประชุม มีการเชิญ พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ ออกจากห้องประชุมประมาณ 5 นาที จากนั้นมีการเชิญ พล.ต.อ.พงศพัศ และ พล.ต.อ.เอก ออกจากห้องประชุม 2 ครั้ง ครั้งละเพียง 3 - 5 นาที เท่านั้น และในช่วงท้ายการประชุมมีการเชิญ พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เข้าชี้แจงต่อ ก.ตร. ประมาณ 5 นาที ก่อนที่ ก.ตร. จะยุติการประชุมโดยใช้เวลาประชุม 1 ชม. 10 นาที
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวภายหลังประชุม ว่า การประชุมวันนี้ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ ก.ตร. ประชุมหารือพิจารณากรณี พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. ได้มีข้อร้องเรียนเรื่องผลการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 8/2558 ที่ให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองการนับวันทวีคูณของตน โดยการประชุมวันนี้ได้นำเอกสารข้อมูลต่างๆจากการประชุม ก.ตร. ครั้งที่แล้วมาตรวจสอบอย่างละเอียด โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า การประชุมครั้งที่ 8/2558 ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับตามที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ มีหนังสือร้องเรียนจริง เนื่องจากการประชุมวันนั้น พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ไม่ได้เดินออกนอกห้องประชุมไปก่อนที่จะมีการลงมติในที่ประชุม ซึ่งผิดระเบียบข้อบังคับการประชุม โดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ มีประเด็นคัดค้านว่า พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งกับตน แต่กลับไปนั่งอยู่ในห้องประชุมได้หรือไม่ ซึ่งตามระเบียบการประชุม ก.ตร. นั้น ทั้งสองท่านต้องออกนอกห้องไปก่อนแล้วมาลงมติว่ารับรองหรือไม่ แต่ว่าทางฝ่ายเลขาการประชุมไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด
“ในวันนั้นทั้งสองท่านต้องออกไปก่อน แต่ท่านไม่ได้ลุกออกไป ซึ่งข้ามขั้นตอนไปนิดเดียว จากการพิจารณาของ ก.ตร. วันนี้ได้เชิญ พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าไปชี้แจงประเด็นต่างๆ ด้วย โดยข้อคิดเห็นในการพิจารณาเรื่องหลักคือต้องพิจารณาใหม่ว่า ก.ตร. จะอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของปกครองกรณี พล.ต.ท.ศรีวราห์ หรือไม่ และที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สมควรอุทธรณ์และที่ประชุมได้ขอความเห็นว่าจะเปิดลงคะแนนแบบลับหรือเปิดเผย และได้ข้อสรุปว่าให้เป็นแบบลับเหมือนการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ผ่านมา” พล.ต.อ.สมยศ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ฝ่ายเลขาการประชุมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำบันทึกถึงอัยการว่าขณะนี้มติ ก.ตร. ได้มีความเห็นต่างจากมติเดิมแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ต้องถึงศาล อยู่แค่ที่พนักงานอัยการเพราะยังไม่ได้ส่งเรื่องไปให้ศาลแต่อย่างใด
เมื่อถามว่าจะเยียวยา พล.ต.ท.ศรีวราห์ อย่างไร จะแต่งตั้งย้อนหลังหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า คงเป็นไปตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร. อีกครั้ง ถามต่อว่าจะต้องพิจารณาให้ทันช่วงแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่งตั้ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ ในทันที เพราะการแต่งตั้งใดๆก็แล้วแต่ ถึงแม้จะเป็นคำวินิจฉัยของศาลก็ต้องเป็นไปตามวาระทั้งสิ้น
เมื่อถามว่าหากไม่ทันการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะถึง เกรงว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ จะฟ้องร้องว่าเสียสิทธิ์อีกหรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า คงไม่ เพราะ พล.ต.ท.ศรีวราห์ คงเข้าใจดีว่าการพิจารณาต้องเป็นไปตามวาระ เช่น จะประชุมวาระที่ 1 แล้วข้ามไปวาระที่ 5 เลยก็คงไม่ได้ ถึงจะเป็นคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลให้เยียวยาคนนั้นคนนี้ก็ตาม ก็ต้องรอไปตามวาระ เช่น มีคำสั่งให้เยียวยาข้าราชการตำรวจระดับรองผู้กำกับการ ก็ต้องรอให้ถึงวาระแต่งตั้งรองผู้กำกับการก่อน จะข้ามขั้นตอนไม่ได้ ต้องรอสิ้นปี เพราะมีตำแหน่งย้ายไปหรือเกษียณอายุราชการออกไป จะไปกำหนดตำแหน่งใหม่ไม่ได้ แต่หากจะทำจริงก็ต้องส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก่อน
“เรื่องนี้เป็นการรักษาสิทธิ์ของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ หากการร้องเรียน หรือคัดค้านดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียสิทธิ์อย่างไรมันก็คงไม่เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าในวันนั้นมันเกิดความผิดพลาดเล็กน้อยในการประชุมจริง ๆ เพราะ พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.พงศพัศ อยู่ภายในห้องระหว่างพิจารณาว่าจะให้ทั้งสองท่านอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ แต่ตามระเบียบนั้นระบุว่าขณะที่พิจารณาว่าจะให้ทั้งสองท่านอยู่หรือไม่นั้น ทั้งสองท่านจะต้องออกนอกห้องประชุมไปก่อน ซึ่ง พล.ต.อ.เอก ได้ถามแล้วว่าตัวเองต้องออกนอกห้องก่อนหรือไม่ แต่ทางฝ่ายเลขาฯไม่ได้บอกอะไร จึงได้นั่งอยู่ต่อไป” ผบ.ตร. กล่าว และว่า การประชุมวันนี้ได้นำบทเรียนจากการประชุมครั้งที่ 8/2558 มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ได้ถามฝ่ายเลขาฯในทุกขั้นตอนของการประชุมอย่างละเอียด โดยเรายอมรับว่าความผิดพลาดครั้งก่อนได้กลายเป็นช่องว่างให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียสิทธิ์ฟ้องร้อง ก.ตร. อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ นั้นเก่งมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ก.ตร. ครั้งนี้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้มารอชี้แจงต่อ ก.ตร. ด้วย แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงแต่อย่างใด
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีมติในที่ประชุมยกเลิกอุทธรณ์ว่า เบื้องต้นทราบว่ามีการยกเลิกอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อได้รับหนังสือก็จะต้องทำตามกฎหมาย ส่วนกรณียกเลิกอุทธรณ์นั้น ยังไม่มีวาระที่ต้องแต่งตั้ง จะต้องรอวาระก่อน หรือกรณีถอนฟ้อง ยืนยันว่า ถ้าให้ทนายฟ้องไป จะต้องเกิดประโยชน์ เพราะกรณีการถอนฟ้อง ตนเห็นว่าถ้าเป็นประโยชน์ของชาติบ้านเมืองตนก็จะปฏิบัติ แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ตนจะไม่ทำ ถึงแม้จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่เกี่ยวกัน การที่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกี่ยวว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่มีเหตุผลมาชี้แจงว่าไม่เกิดประโยชน์ก็โอเค แต่ถ้าไม่มีก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเรียกไปฟังคำชี้แจงแต่อย่างใด คงอาจจะเป็นเพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุดก็เป็นได้ ซึ่งหลังจากที่การเปลี่ยนแปลงยกเลิกอุทธรณ์ ตนก็ยืนยันว่าจะทำงานตามปกติ เพราะกินภาษีของประชาชนเป็นเงินเดือน นอกจากนี้ ในการขอเยียวยานั้น ตนจะต้องรอดูผลหลังวันที่ 10 ก.ค. 58 ที่จะถึงนี้