“ทนายสุวัตร” เตรียมยื่นขอขยายเวลาฎีกาสู้คดี หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ “13 แกนนำพันธมิตรฯ” จ่ายค่าเสียหายเกือบ 600 ล้าน แก่การท่าอากาศยานฯ กรณีชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ปี 51 ก่อนครบกำหนดยื่นฎีกา 26 มิ.ย.นี้
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวถึงคดี ที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รวม 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิในปี 2551 ว่า หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในทุกประเด็นให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้ง 13 คนต้องชดใช้เงินค่าเสียหายแล้ว และคดีจะครบกำหนดในการยื่นฎีกาในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ซึ่งตนและทีมทนายความ กำลังพิจารณารายละเอียดเพื่อยื่นฎีกาขอต่อสู้คดี ซึ่งอาจจะไม่ทันช่วงกำหนดในการยื่นฎีกาดังกล่าว ตนจึงเตรียมแนวทางที่จะยื่นคำร้องขอขยายเวลาในการยื่นฎีกาก่อน โดยในการยื่นฎีกานั้นตามขั้นตอน ฝ่ายจำเลยจะต้องนำเงิน 7 ล้านมาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นฎีกาด้วย ทางเราจึงเตรียมจะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาในเรื่องค่าธรรมเนียมเป็นกรณีอนาถา เพื่องดเว้นการวางเงินค่าธรรมเนียม 7 ล้านด้วย ก็จะต้องดูว่าศาลจะพิจารณาและมีคำสั่งอย่างไรต่อไป
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็น โจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รวม 13 คน ในคดีหมายเลขดำที่ 6453 /2551 ซึ่ง ทอท.ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีระหว่างวันที่ 24 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลยร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยคดีนี้ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 ให้จำเลยทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 ธ.ค. 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาทด้วย เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครอง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 63 นั้น หมายถึงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตาม มาตรา 63 วรรคหนึ่ง แต่การชุมนุมของพวกจำเลย ไม่ได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว และยังส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประโยชน์สาธารณะ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพการประกอบอาชีพและการคมนาคมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 28 ซึ่งการชุมนุมจะต้องตั้งอยู่บนหลักแห่งความสมดุลกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
และไม่ใช้สิทธิเด็ดขาดที่พวกจำเลยทั้ง 13 เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้เข้าร่วมชุมนุม จะสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้ โดยไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการปิดสนามบินยังก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสาร และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง จึงเป็นวัตถุประสงค์ให้เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง