ASTV ผู้จัดการ - ตร.ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศเปิดปฏิบัติการคอบร้า 3 ปราบปรามลักลอบค้าสัตว์ป่า-พืชป่าหายาก เผยจับผู้ต้องสงสัยกว่า 300 คน กว่า 600 ครั้ง ผลงานเด่นจับกุมงาช้าง 4.3 ตัน
วันนี้ (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ (ผบก.ตท.) เป็นประธานการแถลงข่าวความสำเร็จปฏิบัติการคอบร้า ครั้งที่ 3 (Operation COBRA 3) โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อม พ.ต.อ.ธีรุตน์เทวัญ มังคละวัชร์ ผกก.ฝอ.บก.ปทส. และ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมแถลงข่าว
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจาก 62 ประเทศในทวีปแอฟริกา, เอเชีย, อเมริกา และยุโรป ประสบความสำเร็จจากปฏิบัติการความร่วมมือระยะยาว ภายใต้รหัสว่า “ปฏิบัติการคอบร้า 3 (Operation COBRA III)” มุ่งเป้าปราบปรามอาชญากรรมสัตว์ป่าและพืชป่าที่เกี่ยวกับช้าง เสือ แรด ตัวนิ่ม ลิงที่ใกล้สูญพันธุ์ นก สัตว์เลื้อยคลาน และไม้พะยูง โดยปฏิบัติการจัดการสัตว์ป่าระดับโลกครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-27 พ.ค. 2558 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN-WEN LEEO), สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (SA-WEN), หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจตามข้อตกลงลูซากา (LATF), ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ, สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศจากทวีปแอฟริกา รวมทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ ตำรวจอาเซียน (ASEANPOL) สหภาพตำรวจยุโรป (EUROPOL) องค์การตำรวจสากล (INTERPOL), สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC), องค์การศุลกากรโลก (WCO), สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES Secretariat) และหน่วยงานในประเทศไทย ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ปฏิบัติการนี้ได้รับการประสานงานโดยทีมงานประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordination Teams : ICT) ที่ตั้งปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย สัตว์ป่า ศุลกากร ตำรวจป่าไม้ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานระหว่างรัฐบาล ปฏิบัติการนี้ดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศต้นทาง ปลายทางและประเทศทางผ่าน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย เส้นทางการลักลอบขนส่งข้ามแดน ตลอดจนวิธีการสืบสวน สอบสวนระหว่างหน่วยงาน เพื่อแสวงหาแนวทางยกระดับทักษะการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าของแต่ละประเทศ โดยมีผู้ประสานงานองค์กรระดับชาติเป็นผู้นำ” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ระบุ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์กล่าวว่า สำหรับผลจากปฏิบัติการคอบบร้า ครั้งที่ 3 ทำให้สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 300 คน รวมไปถึงการจับตัวการสำคัญและจับกุมการซื้อขายสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายมากกว่า 600 ครั้ง ซึ่งสามารถโยงไปถึงเครือข่ายการก่ออาชญากรรมและกิจกรรมต่างๆ โดยสิ่งของผิดกฎหมายที่จับกุมได้ เช่น งาช้างมากกว่า 12 เมตริกตัน นอแรด 119 ชิ้น ไม้เนื้อแดง 10 เมตริกตัน และเต่าดำ จำนวน 344 ตัวนอกจากนี้ยังยึดอาวุธปืนและกระสุนได้อีกจำนวนมาก
“ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นคือการจับกุมงาช้าง 4.3 ตัน โดยจับกุมได้ระหว่างการขนส่งจากสาธารณรัฐคองโกไปยังสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว และอีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมามีการจับกุมงาช้างผิดกฎหมายจำนวน 3.1 ตันจากเคนยา ทั้งนี้ยังมีการจับกุมงาการค้าขายงาช้างผิดกฎหมายอีกหลายครั้ง ทั้งในสิงคโปร์ จำนวน 3.7 ตัน, โมซัมบิก จำนวน 1.3 ตัน และอูกานดา จำนวน 0.6 ตัน นอกจากนี้ยังมีการจับกุมครั้งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ นอแรดจับกุมได้จำนวน 77 ชิ้นในโมซัมบิค เวียดนามจำนวน 31 ชิ้น นามิเบีย จำนวน 14 ชิ้นและเคนยาจำนวน 4 ชิ้น การจับกุมเกล็ดของตัวนิ่ม ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีการจับกุมหอยเป๋าฮื้อ จำนวน 8,300 หน่วย และ 1 ตันในแอฟริกาใต้ ในขณะที่พบวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นกระดูกเสือในอินเดีย” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์กล่าว
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เรือความเร็วสูงได้ทำการยึดสัตว์ผิดกฎหมาย ได้แก่ เต่าที่ยังมีชีวิต สัตว์เลื้อยคลาน แมงมุม เกล็ดของตัวนิ่มจำนวน 240 กิโลกรัมและจะงอยปากของนกเงือกจำนวน 10 กิโลกรัม ในสหราชอาณาจักร มีการจับกุมสินค้าต้องห้ามซึ่งได้ระบุไว้ในอนุสัญญาไซเตส จำนวน 243 ชิ้น ได้แก่ ยาเสพติดหลายชนิด อาวุธ ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเยอรมนีมีการจับกุมสิ่งของผิดกฎหมายมากกว่า 110 ครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยาแผนโบราณ และในออสเตรีย มีการจับกุมการขนส่งยาที่ผิดกฎหมายที่มีส่วนประกบของ Aloe ferox ซึ่งเป็นพืชที่ระบุไว้ในอนุสัญญาไซเตสภาคผนวกที่ 2
ด้านนางสุวณากล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความสำคัญกับเรื่องคดีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือกับ ASEAN-WEN LEEO ในการเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการสืบสวนสอบสวน การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย จากจำนวนคดีมากมายที่สามารถจับกุมได้ยิ่งทำให้ทางดีเอสไอตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหลายคดีที่พบในระหว่างปฏิบัติการครั้งนี้มีความซับซ้อนและต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนต้องอาศัยความร่วมมือหน่วยงานเครือข่ายทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ และจากการที่ได้เรียนรู้ในปฏิบัติการครั้งนี้ ดีเอสไอมั่นใจและพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนร่วมกับทาง ASEAN-WEN LEEO ต่อไป