xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตากับพาเหรด “นกกระทุง” อพยพ แห่งเดียวในไทยที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชวนดูนกกระทุงอพยพครั้งเดียวในรอบปี บินพาเหรดแห่งเดียวในไทย



วันนี้ (11 มิ.ย.) นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้บริเวณอ่างเก็บน้ำสวนพฤกษศาสตร์ ภายในสวนสัตว์มีฝูงนกกระทุง นกน้ำขนาดใหญ่ ขนสีขาวปนเทา ตัวขนาดเท่าห่าน เป็นนกธรรมชาติที่กระจายพันธุ์มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้อพยพเข้ามาหากิน และทำรังรวมกลุ่มกันเป็นฝูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ร่วมกันไล่ต้อนฝูงปลาขนาดเล็ก โดยใช้จะงอยปากล่างไล่ช้อนอย่างรวดเร็ว

โดยฝูงนกกระทุงเหล่านี้ ได้ออกหากินอยู่รวมกับนกกาบบัวเจ้าถิ่นอีกครั้ง ที่อาศัยอยู่เดิมเป็นร้อยตัวก็จะบินพาเหรดร่วมกัน โดยเมื่อสัญญาณนกหวีดจากเจ้าหน้าที่ดังขึ้น ฝูงนกเหล่านี้ก็จะโผบินไปตามสัญญาณเสียงนั้นทันที ภาพฝูงนกนับร้อยบินเหนือผืนน้ำ ท่ามกลางหุบเขาที่สวยงามแบบนี้มีเพียงที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นนกกระทุงกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ชมความสวยงามของขบวนพาเหรดนกกระทุง และนกกาบบัวได้อย่างใกล้ชิด และเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนกชนิดนี้วันละ 2 รอบ เวลา 10.00 น. และเวลา 14.00 น.ทุกวัน

ทั้งนี้ นกกระทุง (Spot-billed Pelican) เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ตัวผู้ และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ขนาดความยาวประมาณ 140 เซนติเมตร ปากยาว และแบน มีถุงน้ำใต้คอสีม่วงอ่อน ขอบปากด้านบนมีจุดสีฟ้าคล้ำๆ เรียงกัน ขาสั้นสีน้ำตาล และมีเยื่อยึดอยู่ระหว่างนิ้วทั้ง 4 ใช้สำหรับว่ายน้ำ ขณะบินจะหดคอแนบเข้ามา และวางหัวไว้บนไหล่

ขนตามลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณขอบตาสีขาว ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงทั้งช่วงเวลาหากิน และทำรัง กินปลา กุ้ง กบ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เป็นอาหาร และหาอาหารด้วยกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งทำอะไรตัวอื่นจะทำตาม เวลาที่อยู่เฉยๆ จะหันหน้าไปทางเดียวกัน ขณะหาอาหารจะใช้ถุงใต้คอทำหน้าที่คล้ายสวิงช้อนปลาลงในลำคอ

นกกระทุง ทำรังอยู่บนต้นไม้รวมกันเป็นฝูง วางไข่คราวละ 4-5 ฟอง และใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 30 วัน โดยทั้งตัวผู้ และตัวเมียผลัดกันทำหน้าที่ พบแพร่กระจายในประเทศอินเดีย จีนภาคตะวันออก พม่า ไทย ลาว เขมร มลายู สุมาตรา ชวา จนถึงฟิลิปปินส์ สถานภาพปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535


กำลังโหลดความคิดเห็น