xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งโจรลักเงิน สจล.เหลี่ยมจัด “กิตติศักดิ์” ชิงเข้ามอบตัวปิดคดีหวังตัดตอน “บิ๊กบอส” คนบงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 “กิตติศักดิ์ มัทธุจัด” ผู้ต้องหาคนสำคัญคดียักยอกเงินสจล.
จับตาคดีโคตรโกง 1.6 พันล้าน สจล. เชื่อ “กิตติศักดิ์ มัทธุจัด” ผู้ต้องหาคนสำคัญเตรียมตัวมาอย่างดีก่อนตัดสินใจบินจากอังกฤษมอบตัวตำรวจไทย ระทึกพิสูจน์ลายเซ็นเช็ค ถ้าพบเป็น “ของจริง” ธนาคารไทยพาณิชย์ เฮไม่ต้องจ่าย ต้องเค้นสอบความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เชื่อขบวนการ “เกย์” รวมหัว “โกง”

เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนหลังแก๊งยักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถูกตำรวจกองปราบปรามทลายยกก๊วนโดยมีผู้ต้องหาในระดับต่างๆ มากถึง 11 คน ประกอบด้วย

นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคารศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซีศรีนครินทร์ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล. นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการณ์ นางสมบัติ โสประดิษฐ์ น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ นางระดม มุทธุจัด นายภาดา หรือ โอ๊ต บัวขาว นายศรุต ราชบุรี นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตรองอธิบดีฝ่ายการคลัง สจล.และ นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.

หลือเพียงคนเดียวคือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสำคัญที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศและทางการได้ออกหมายจับประสานกับตำรวจสากล

ต่อมามีการติดต่อขอมอบตัวกระทั่งเช้าวันที่ 22 พ.ค. นายกิตติศักดิ์ เดินทางจากอังกฤษมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเข้าล็อกตัวพร้อมแจ้งสื่อมวลชนเตรียมจัดแถลงข่าวช่วงเที่ยงวันเดียวกัน

คดีโคตรโกงอันมีมูลค่าความเสียหายถึง 1.6 พันล้านบาท นี้ กำลังเดินมาถึงจุดไคลแม็กซ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด นับเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ เนื่องจากแนวทางการสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่าบุคคลที่หอบเงินไปซุก หรือ กระจายไปยังขบวนการ ก็คือ นายกิตติศักดิ์ ซึ่งในประเด็นนี้หากผู้ต้องหายอมเปิดปากก็จะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ ในกลุ่มได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดของโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวระหว่างการควบคุมตัวนายกิตติศักดิ์ ว่า จากการพูดคุยกับผู้ต้องหานายกิตติศักดิ์ อ้างว่า ส่วนตัวไม่เคยรู้จักกับนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิบการบดี สจล. แต่รับว่ารู้จักกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคาร และได้แนะนำให้รู้จักกับ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล. อีกทีหนึ่ง นายกิตติศักดิ์ ยังบอกด้วยว่าเงินต่างๆ ที่ได้มานั้น นายทรงกลด อ้างว่า มีเงินจำนวนมากให้นำไปลงทุนเขาเองก็ไม่ทราบว่าเป็นเงินของสถาบันฯ และได้นำไปทำธุรกิจพนันบอลต่างประเทศ

พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวอีกว่า นายกิตติศักดิ์ น่าจะเป็นผู้ต้องหารายสุดท้ายแล้ว และไม่น่าจะมีผู้บงการใหญ่กว่านี้อีก เนื่องจากการสืบสวนของตำรวจไม่พบเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นแม้แต่เรื่องบิ๊กบอสที่ยังคาใจกันอยู่นายกิตติศักดิ์ ยังยืนยันว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิด

จากข้อมูลนี้เองแนวโน้มของคดีโคตรโกง สจล. จึงอาจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อีก เพราะ “บิ๊กบอส” ที่อยู่เบื้องหลังตามความเชื่อแต่แรกนั้นทำท่าจะมาหยุดที่ นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. แต่เพียงคนเดียว ไม่มี “บิ๊กบอส” ในฝั่งธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่สังคมสงสัยอีกต่อไป

แต่โฟกัสกลับย้อนมาที่ นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคาร อีกครั้ง เนื่องจากนายกิตติศักดิ์ ยอมรับว่ารู้จักกับผู้ต้องหารายนี้ และพามาให้รู้จักกับ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล. ก่อนเกิดคดีขึ้น กลายเป็นคำซัดทอดที่พุ่งไปยังผู้ต้องหาระดับกลางและระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นนายทรงกลด ผู้ต้องหาคนแรกอันเป็นตัวเปิดคดี รวมทั้งผู้ต้องหารายอื่นๆ ที่มีส่วนเข้าไปรู้เห็นแต่สำหรับระดับบนแล้วช่องทางการต่อสู้คดีกลับมีความสดใสมากขึ้น

การติดต่อเข้ามอบตัวของนายกิตติศักดิ์ อย่างไม่มีข่าวระแคะระคายนั้น แม้อาจจะมองทางหนึ่งว่าเกิดจากแรงกดดันจากตำรวจไทยที่ประสานไปยังตำรวจสากล จนทำให้ผู้ต้องหาต้องเลือกช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งเชื่อว่า นายกิตติศักดิ์ จะต้องเตรียมตัวมาอย่างดี ศึกษารูปการคดีมาอย่างรอบคอบ เมื่อพบช่องทางการต่อสู้ จึงติดต่อผ่านมายังผู้หลักผู้ใหญ่และประสานไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทันทีที่ผู้ต้องหารายนี้เหยียบสนามบินสุวรรณภูมิ ทิศทางของคดีก็เป็นไปตามคาด คือ

ไม่มีบิ๊กบอส ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องอีก และความผิดต่างๆ เริ่มพันกันในกลุ่มผู้ต้องหาระดับกลางและระดับล่าง

อย่างไรก็ตาม จังหวะนี้ยังต้องหวังว่าเป็นนาทีทองของพนักงานสอบสวนไม่มาก็น้อย เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาทุกคนล้วนมีสถานภาพ และยอดสุดคือ นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. แต่สำหรับนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด เขาคือใครกันแน่ ข้อมูลเก่าที่ระบุว่าเป็นนักธุรกิจในแวดวงบันเทิง หรืออื่นๆ คงต้องเค้นประวัติความเป็นมาให้ชัดเจนโดยเฉพาะรสนิยมทางเพศอันเป็นที่ทราบดีว่าขบวนการโคตรโกง สจล. ล้วนเป็นพวกเก้งกวาง สายสัมพันธ์ต่างๆ ที่นายกิตติศักดิ์ มีกับนายทรงกลด และ นายภาดา หรือโอ๊ต ภาดา ลึกซึ้งขนาดไหน ยังรวมไปถึง “บิ๊กเกย์” ซึ่งอยู่ขบวนการนี้

และด้วยมูลค่าความเสียหายจำนวนมากถึง 1.6 พันล้านบาท คดีโคตรโกง สจล. จึงต้องลุ้นระทึกถึงผลการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนได้ตรวจยึดไว้โดยเฉพาะเช็คแต่ละฉบับที่มีลายเซ็นของผู้บริหาร สจล. ในขณะนั้นว่าเป็นลายเซ็นจริง หรือลายเซ็นปลอม ประเด็นนี้ฝ่ายที่จ้องกันอย่างไม่กะพริบตาก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้ให้บริการและประกาศความรับผิดชอบพร้อมเยียวยา สจล. ด้วยมูลค่าเสียหายเต็ม แต่มีข้อแม้ว่าลายเซ็นในเช็คแต่ละใบที่สั่งจ่ายผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จะต้องเป็นลายเซ็นปลอมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความบกพร่องของธนาคาร ตรงข้ามหากเป็นลายเซ็นจริง ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ เนื่องจากได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ของธนาคารอย่างถูกต้อง

การเข้ามอบตัวของ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสุดท้ายจึงปลุกคดี สจล. ให้กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง การช่วงชิงความได้เปรียบ - เสียเปรียบ แม้แต่กลุ่มผู้ต้องหาเองยังต้องงัดข้อกฎหมายออกมาสู้กันอย่างเต็มที่ และนั่นคือเรื่องปกติของทุกคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก เพราะแต่ละคนต้องการอิสรภาพ หรือที่สุดแล้วก็ขอให้ได้รับโทษน้อยที่สุดแต่สำหรับคดีโคตรโกง สจล. ยังมีหน่วยงานสำคัญตกเป็นผู้เสียหายพร้อมกัน 2 องค์กร นั่นคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งตกปากรับคำแล้วว่าจะชดใช้เงินทั้งหมดหากพบว่าธนาคารเป็นฝ่ายบกพร่อง

จังหวะนี้มือกฎหมายระดับสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ และ สจล. ต่างเคลื่อนไหว เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด และเชื่อได้ว่าในส่วนของพนักงานสอบสวนซึ่งก่อนหน้ามีข่าวทำนองมี “ธง” อยู่แล้วก็คงเป็นเพียงข้อสังเกต เพราะในความเป็นจริง คดีโคตรโกง สจล. เรื่องมาแดงขึ้นในยุคสังคมไทยตื่นตัวต่อปัญหาคอร์รัปชัน อีกทั้งยังเป็นคดีที่ประชาชนทั่วไปและที่เกี่ยวข้องในแวดวงธนาคาร หรือแม้แต่ศิษย์เก่า สจล.ให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ปัญหาที่ห่วงใยหรือเป็นกังวลจึงไม่น่าเกิดขึ้น เว้นแต่ช่องทางของกฎหมาย หรือรายละเอียดต่างๆ ที่ฝ่ายผู้ต้องหาเตรียมงัดมาสู้ในชั้นศาล

ภาระหน้าที่นี้จึงตกอยู่ที่พนักงานสอบสวน กองปราบปรามซึ่งต้องทุ่มสรรพกำลังความสามารถปิดรูรั่วทั้งหมดเพื่อให้คนผิดชดใช้กรรมที่ก่อขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น