xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ฉะ มี ขรก.ทุจริตในคุก จี้ล้างภาพเรือนจำคือ ร.ร.สอนโจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ยุติธรรม ติง ผบ.คุก ยังแก้ปัญหาการลักลอบนำของต้องห้ามเข้าเรือนจำไม่ได้ จวก ขรก. ราชทัณฑ์ ซี 3 - 4 สร้างอิทธิพลในเรือนจำ รับส่วยยาเสพติด เผย 11 เดือน จู่โจมค้นเรือนจำแล้วกว่า 11,391 ครั้ง พบยาบ้า 2.9 หมื่นเม็ด ไอซ์ 3,000 กรัม มือถือกว่า 7 พันเครื่อง ต้องเร่งแก้ปัญหาลบภาพประชาชนมองคุกเป็นโรงเรียนสอนโจร

วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “100 ปี ราชทัณฑ์ ทางออก แห่งความมุ่งมั่นป้องกันสังคม” โดยมี นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวรายงาน และมีคณะผู้บริหารจากเรือนจำทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาครั้งนี้

นายวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2557 - 6 พ.ค. 2558 กรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นเรือนจำทั้ง 143 แห่ง ทั้งหมด 11,391 ครั้ง ได้ของกลางเป็นยาบ้ากว่า 29,000 เม็ด ยาไอซ์ 3,000 กรัม โทรศัพท์มือถือ 7,483 เครื่อง และซิมการ์ด 1,731 ชิ้น สำหรับการแยกขังผู้ต้องขังเฉพาะกลุ่มแบบเด็ดขาด ได้แยกเป็นทัณฑสถานหญิง 8 แห่ง แดนหญิงในเรือนจำชาย 106 แห่ง ส่วนเรือนจำที่คุมขังเฉพาะผู้ต้องขังชายจำนวน 29 แห่ง ที่เหลืออีก 118 แห่ง ไม่สามารถแยกการคุมขังได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นเรือนจำแดนเดียว 28 แห่ง และเรือนจำที่มีหลายแดน แต่มีผู้ต้องขังจำนวนมากจนไม่สามารถแยกได้ จำนวน 31 แห่ง

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ถูกประชาชน มองว่า เป็นโรงเรียนสอนโจร และยังมีปัญหาในเรื่องการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ เช่น โทรศัพท์มือถือ และ ยาเสพติดจำนวนมาก ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละที่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยตนมองว่า เสียงสะท้อนของประชาชนเหล่านี้ จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หายไป และจะให้คนอื่นทำแทนผู้บัญชาการเรือนจำคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ถูกปลดออกเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีการทุจริตและใช้อำนาจเรียกรับผลประโยชน์ โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรับผลประโยชน์จากยาเสพติด และการใช้อำนาจไปในทางที่เสื่อมเสีย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตนจะต้องทำให้ได้ ดังนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปรับทัศนคติให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานเพื่อประชาชน เป็นครูและผู้ปกครองที่ดีของผู้ต้องขัง

สำหรับปัญหายาเสพติดนั้น ปัจจุบันมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น จึงทำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดยังมีความผิดพลาด ซึ่งตนคิดว่า อาจเป็นเรื่องของกฎหมายที่หน่วยงานอื่นยังไม่เชื่อมโยงกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนอีกเรื่อง คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ซึ่งขณะนี้เรากำลังดำเนินการผลักดันปรับกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น หลังจากที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 80 ปี

“ผมไม่ได้มองราชทัณฑ์เหมือนคนใน เพราะเป็นคนนอก ไม่ใช่นักการเมือง ที่ต้องการมาเป็นรัฐมนตรี ที่สำคัญ ผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะผมมาด้วยวิธีพิเศษ ฉะนั้น ผมจึงมองราชทัณฑ์เหมือนที่คนภายนอกมองเข้ามา ซึ่งเป็นการมองที่ปัญหา โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาเสียงสะท้อนของประชาชนที่สะท้อนเข้ามา ให้หายไปจากราชทัณฑ์” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีข้าราชการระดับซี 3 และ 4 บางรายสร้างอิทธิพลเหนือผู้บัญชาการเรือนจำในระดับซี 8 และ 9 ในเรื่องของผลประโยชน์ โดยตนมองว่า การสร้างเรือนจำใหม่เพื่อช่วยลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำไม่มีความจำเป็น แต่ควรใช้เรือนจำที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อบริหารลดนักโทษเข้าเรือนจำมากกว่าเพิ่ม หรือก่อสร้างเรือนจำใหม่ ดังนั้น จึงต้องกลับมาดูกฎหมายและการบริหารต่างๆ เพราะการแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งอนาคตอาจเกิดเรือนจำเอกขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักโทษที่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 1 - 2 ปี ก็สามารถเป็นคนดีได้ แต่จะต้องดูในเรื่องของการบริหารรวมถึงการคัดแยกนักโทษ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม เพราะการอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้




กำลังโหลดความคิดเห็น