xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดี “สนธิ” หมิ่น “นพดล” ออกจากสารบบ หลังโจทก์ถอนฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาสั่งให้จำหน่ายคดี “สนธิ ลิ้มทองกุล” หมิ่น “นพดล ปัทมะ” กล่าวหาปกป้องทักษิณ ทรยศต่อทุนหลวง ออกจากสารบบ หลังโจทก์ยื่นถอนฟ้องระหว่างฎีกา



ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (1 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.50 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.1488/2550 ที่ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้จัดทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช ทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้จัดทำเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์, นายวิรัตน์ แสงทองคำ กรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328, 332 กรณีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2550 นายสนธิ จำเลยที่ 1 จัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี กล่าวทำนองว่านายนพดล โจทก์ เป็นคนทรยศต่อทุนหลวง

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ และบริษัท แมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 2 และที่ 6 รายละ 20,000 บาท และให้ยึดทำลายแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง และทำลายข้อมูลในเว็บไซต์ พร้อมให้จำเลยที่ 1, 2 และ 6 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์ และมติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ส่วนคำขออื่นให้ยก ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2555 ว่า การที่โจทก์แสดงออกถึงการปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ประชาชนบางส่วนอาจเห็นด้วย ขณะที่โจทก์และประชาชนบางส่วนอาจไม่เห็นด้วย แต่การแสดงออกถึงความไม่พอใจต้องอยู่ในกรอบ คำกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการใส่ความผู้อื่นให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเป็นการละเมิดต่อสิทธิโจทก์ แต่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักโกรธเคืองกับโจทก์เป็นการส่วนตัวมาก่อน และจำเลยมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว สมควรลดโทษให้น้อยลง จึงพิพากษาแก้ให้จำคุก 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 3 วัน ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยยื่นฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้นายนพดล ปัทมะ โจทก์ได้ยื่นถอนฟ้องระหว่างฎีกา และสอบถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ภายหลัง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้โจทก์ยื่นถอนฟ้องคดีจึงสิ้นสุด ซึ่งก็ไม่ทราบเช่นกันว่าถอนฟ้องเพราะอะไร เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับมาตรา 44 นายสนธิกล่าวว่า เป็นการตั้งใจให้กฎหมายดูอ่อนลง เพราะคำว่ากฎอัยการศึก กับมาตรา 44 ในสายตาคนทั่วไปนั้น มาตรา 44 ค่อนข้างจะอ่อนกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างไร ถ้าหากใช้เพื่อแก้ปัญหาประเทศชาติบ้านเมืองที่ยังคั่งค้าง เช่น กรณีที่ญี่ปุ่นจะไม่อนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศญี่ปุ่น แล้วนายกรัฐมนตรีจะประกาศยกเลิกใบอนุญาตเที่ยวบินของประเทศญี่ปุ่นสัก 40-50 ใบ ที่อธิบดีกรมการบินพลเรือนคนก่อนออกให้แล้วมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ก็น่าจะใช้ แต่ถ้าหากใช้ไปตามอารมณ์ เช่น ใช้กับ สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7 หรือกับคอลัมนิสต์ในเครือผู้จัดการ ก็ไม่เหมาะสม เพราะจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ทั้งนี้ ถ้าหากจะมีการใช้มาตรา 44 ดังกล่าวก็ขอให้ใช้เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองจริงๆ ไม่ใช่ว่าใครแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับนายกรัฐมนตรีแล้วจะใช้มาตรา 44 อย่างนั้นไม่ถูกต้อง









กำลังโหลดความคิดเห็น