“อดีต ผบ.ตร.” ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของตำรวจ ที่สร้างคุณงามความดี สร้างประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอดชีวิตราชการตำรวจ เมื่อเกษียณอายุราชการ ยังขอตำรวจไปรักษาความปลอดภัยได้สูงสุดเพียง “รองสารวัตร” การที่ระดับ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ขอตำรวจระดับ ผกก. ไปรักษาความปลอดภัยได้ถือว่าสูงขึ้น 3 ระดับชั้นตำรวจ
ดูท่าความปรารถนาของ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” แม่ทัพใหญ่สีกากี ที่ต้องการให้ “ตำรวจ” พ้นจากอุ้มมือ “นักการเมือง” ตามแนวคิดการ “ปฏิรูปตำรวจ” จะกลายเป็นแค่ “ความฝัน”
เหมือนอย่างฉายาที่สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ตั้งให้เป็น “ผบ. ขายฝัน”
ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน เมื่อวันที่ 10 - 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการ “ปฏิรูปตำรวจ” มีการสรุปผลการสัมมนาออกมาได้ 3 ประเด็นหลัก
1. ต้องการให้การแทรกแซงของนักการเมืองที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือข้าราชการตำรวจหมดไป 2. การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ที่ข้าราชการตำรวจรับผิดชอบอยู่ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ ทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติภารกิจโดยตรงอย่างที่ควรจะเป็น คือการพิทักษ์รับใช้หรือให้บริการประชาชนได้เต็มที่ และ 3. จะศึกษาหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้เป็นที่น่าสนใจต่อประชาชน ทำให้ประชาชนรักและศรัทธา
โดยเฉพาะประเด็นความต้องการให้การแทรกแซงของนักการเมืองที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือข้าราชการตำรวจหมดไป “ผบ. ขายฝัน” ได้เสนอแนวทางวิธีแก้ปัญหาการแทรกแซงจากการเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า
“สิ่งที่ต้องทำ คือ การยุบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เหลือไว้เพียงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และหัวโต๊ะ ก.ตร. จะต้องเป็นข้าราชการตำรวจเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ผมจะอาสานำเรื่องนี้ไปเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง และจะบอกท่านว่าหากทำสำเร็จ ท่านจะเป็นวีรบุรุษของประชาชนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างแท้จริง"
ทว่าดูเหมือนความต้องการของ “ผบ.ขายฝัน” ที่ต้องการหลุดพ้นจากอุ้มมือ “นักการเมือง” น่าจะเป็นแค่เรื่องการ “ขายฝัน” จริงๆ เสียแล้ว
ไม่ใช่เพราะมีนักการเมืองขัดขวาง ไม่ใช่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะตำรวจทั่วประเทศไม่ต้องการหลุดพ้นจากนักการเมือง
แต่เพราะผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับคำพูดไปในท่วงทำนอง “ปากว่าตาขยิบ” คือ ปากก็ต้องพร่ำบอกต้องการจะหลุดพ้นจากอุ้มมือการเมือง ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง อยากให้ตำรวจบริหารงานองค์กรตำรวจกันเอง แต่การกระทำตรงกันข้าม ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ภาพ “หนุ่ย เทวดา” พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ผู้ช่วยนายเวร รอง ผบ.ตร. ที่ปรากฏอยู่ในขบวนรถของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกทหาร ตำรวจ ตั้งด่านตรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาพ พ.ต.อ.วทัญญู อยู่ทุกหนทุกแห่งที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เดินทางไป ทั้งคอยดูแลรักษาความปลอดภัย รวมทั้งทำหน้าที่ช่างภาพประจำตัว กลายเป็นข้อกังขา ข้อสงสัย ของสังคมว่าไปในฐานะอะไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะ พ.ต.อ.วทัญญู ยังรับราชการตำรวจอยู่ไม่ใช่หรือ
แม้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะออกมาแก้ต่างบอกทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสืออนุญาตให้ พ.ต.อ.วทัญญู ไปติดตามและดูแล “ยิ่งลักษณ์” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญได้ เนื่องจากทางสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือขอตัวไปช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย สมัยที่ “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ ส.ค.57 - ส.ค. 58
“ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือว่า พ.ต.อ.วทัญญู ไปทำงานให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปทำหน้าที่รักษาความปลอดถัยอดีตนายกฯ ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ เพราะเป็นอดีตนายกฯ เหมือนกับอดีตนายกฯท่านอื่นๆ เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็สามารถขอเจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัยได้”
คำชี้แจงแก้ต่างของโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง พ.ต.อ.วทัญญู ไปตาม “ยิ่งลักษณ์” ดูเหมือนจะเป็นแค่คำ “แก้ตัว” ในสายตาสังคมทั่วไป เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งเกิดคำถาม ไม่ว่าจะเป็นข้อแก้ต่างที่ว่า ขอไปรักษาความปลอดภัยสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ “ยิ่งลักษณ์” พ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี หน้าที่ตรงนี้ก็น่าจะต้องหมดไปตามหรือไม่ อย่างไร
พล.ต.ท.ประวุฒิ ก็แก้ต่างต่อถึงแม้ “ยิ่งลักษณ์” จะพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญ เพราะเป็นอดีตนายกฯ เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็สามารถขอเจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัยได้ เช่น นายกฯหรืออดีตนายกฯ ท่านอื่นๆ ก็ต้องถามต่อว่า การให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัยอดีตนายกฯต่อ จำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ “นายตำรวจ” ระดับ “พ.ต.อ.” ไปรักษาความปลอดภัย และมีอดีตนายกฯคนอื่นๆรายใด ขอระดับ “พ.ต.อ.” ไปรักษาความปลอดภัยส่วนตัวบ้าง
เพราะตามปกติตำรวจระดับ “พ.ต.อ.” เป็นระดับ “หัวหน้าหน่วย” การขอตัวไปช่วยราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่อนุมัติให้ไปช่วยราชการ เนื่องจากเกรงจะทำให้หน่วยเกิดความเสียหาย ไร้ผู้นำ
จริงอยู่กรณี พ.ต.อ.วทัญญู ถึงจะมีตำแหน่งเทียบเท่า “ผกก.” แต่ก็เป็นตำแหน่ง ผู้ช่วยนายเวร รอง ผบ.ตร. ถึงแม้การขอตัวเชื่อว่า รองผบ.ตร. ที่ พ.ต.อ.วทัญญู ไปเป็น ผู้ช่วยนายเวร คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคเพื่อไทย คงไม่คัดค้านอยู่แล้ว แต่ก็ต้องถามอีกว่า หากผู้ช่วยนายเวร ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ช่วยงานผู้บังคับบัญชา แล้วจะตั้งขึ้นมาทำไมให้เสียกำลังพล น่าจะยุบไปเป็นตำแหน่งอื่นที่ลงไปทำงานรับใช้ประชาชนจะดีกว่าหรือเปล่า
ที่สำคัญ เมื่อพลิกไปดู คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 795/2550 เรื่อง มาตรการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดไว้ว่า อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับการรักษาความปลอดภัย จะหมายถึงอดีตข้าราชการตำรวจ ซึ่งเมื่อครั้งรับราชการเคยดำรงตำแหน่งระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป รวมทั้งอดีตข้าราชการที่เคยเป็นกรรมการข้าราชการตำรวจ
โดยการพิจารณาตำรวจไปรักษาความปลอดภัยอดีตผู้บังคับบัญชา มีหลักเกณฑ์ คือ ระดับ อดีต ผบ.ตร. จำนวนตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย รองสารวัตร ไม่เกิน 2 นาย ชั้นประทวนไม่เกิน 4 นาย ระดับอดีตรอง ผบ.ตร. รองสารวัตร ไม่เกิน 1 นาย ชั้นประทวนไม่เกิน 2 นาย ระดับอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. และอดีตกรรมการ ก.ตร. เป็นตำรวจชั้นประทวนไม่เกิน 2 นาย
คำถามตัวโตๆ ที่เกิดขึ้น คือ ระดับ “อดีต ผบ.ตร.” ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของตำรวจ ที่สร้างคุณงามความดี สร้างประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอดชีวิตราชการตำรวจ เมื่อเกษียณอายุราชการ ยังขอตำรวจไปรักษาความปลอดภัยได้สูงสุดเพียง “รองสารวัตร” การที่ระดับ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ขอตำรวจระดับ ผกก. ไปรักษาความปลอดภัยได้ถือว่าสูงขึ้น 3 ระดับชั้นตำรวจ
ต้องถาม พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ท่านไม่ “ยึดระเบียบ” จะเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ม. 157 หรือไม่?