ชัดเจนว่าการลุกขึ้นมา “ขึงขัง” ตรวจสอบตำรวจติดตามที่ไปติดตามนักการเมือง หรือไปรักษาความปลอดภัยอดีตนักการเมืองของ “ผบ.ขายฝัน” น่าจะเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ผกก.หนุ่ย” ที่ไปติดตาม”อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ลดโทนความร้อนแรงลงไป หาใช่การแก้ปัญหาให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หลักปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เหมาะที่ควร
ไม่รู้ “สำนักปทุมวัน” ยุคที่มี ผบ.ขายฝัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นั่งกุมบังเหียนแม่ทัพใหญ่สีกากี มีความจริงใจในการ “ปฏิรูปตำรวจ” ให้กลับเข้าสู่ครรลองครองธรรม ตามกฎ ตามระเบียบ ตามประเพณีที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
หรือเพียงแค่ “สร้างภาพ” ซื้อเวลา ซุกขยะใต้พรมไปวันๆ
กรณีปมร้อนๆ ข้อกังขา การขอตัว “พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย” ผู้ช่วยนายเวร รอง ผบ.ตร.(พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ) ไปติดตามทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดูเหมือนผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยิ่งพยายามแก้ต่าง แก้ตัวเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะยิ่งเข้าตำรา
“ขว้างงูไม่พ้นคอ”
แม้ พล.ต.อ.สมยศจะมีคำสั่งให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลตรวจสอบเกี่ยวกับนายตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่ติดตามอารักขาหรือรักษาความปลอดภัยให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง รวมถึงอดีตผู้บังคับบัญชาว่าเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการยกเลิกคำสั่ง
“จะตรวจสอบว่ามีใครบ้างที่ไปติดตามหรือไปช่วยราชการบ้าง และถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็ต้องยกเลิกทุกรายโดยต้องพิจารณาถึงความเป็นกลางทางการเมืองด้วยว่า การไปติดตามนักการเมืองแต่ละรายเหมาะหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ สตช.เตรียมพิจารณากำหนดบรรทัดฐานความเหมาะสมให้เป็นในลักษณะเดียวกันในการ อนุมัติคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจติดตามนักการเมือง เนื่องจากเหตุที่ไปช่วยราชการมีเหตุผลเพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้บังคับบัญชา” พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกไว้
พร้อมกับยกกรณีของ พ.ต.อ.วทัญญู ตำรวจติดตาม “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” ว่ามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายเวรของรอง ผบ.ตร. การพิจารณาให้ไปติดตามอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องดูว่าตำแหน่งนายเวรนั้นมีหน้าที่อย่างไร ส่วนรายละเอียดของระเบียบข้อบังคับว่าอดีตนายกฯสามารถขอตำรวจยศตำแหน่งสูงสุดเท่าใดนั้นขอไปตรวจสอบรายละเอียดก่อน
ดูจะชัดเจนว่าการลุกขึ้นมา “ขึงขัง” ตรวจสอบตำรวจติดตามที่ไปติดตามนักการเมือง หรือไปรักษาความปลอดภัยอดีตนักการเมืองของ “ผบ.ขายฝัน” น่าจะเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ผกก.หนุ่ย” ที่ไปติดตาม”อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ลดโทนความร้อนแรงลงไป หาใช่การแก้ปัญหาให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หลักปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เหมาะที่ควร
ทั้งๆ ที่ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏก็จะชัดเจน โดยเฉพาะคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 795/2550 เรื่องมาตรการว่าด้วยรักษาความปลอดภัยอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหลักเกณฑ์ คือ ระดับอดีต ผบ.ตร.จำนวนตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย รองสารวัตร ไม่เกิน 2 นาย ชั้นประทวน ไม่เกิน 4 นาย ระดับ อดีตรอง ผบ.ตร. รองสารวัตรไม่เกิน 1 นาย ชั้นประทวนไม่เกิน 2 นาย และระดับอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.และอดีตกรรมการ ก.ตร.เป็นตำรวจชั้นประทวน ไม่เกิน 2 นาย
ยิ่งพลิกไปดูอดีตนายกรัฐมนตรีที่ขออนุมัติตำรวจไปช่วยราชการ รักษาความปลอดภัย เทียบเคียงกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็แตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
เพราะอดีตนายกฯชวน หลีกภัย ขอตัว ด.ต.ไพบูลย์ ดาเลิศ ผบ.หมู่ บก.ส.3 ไปช่วยราชการตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2556 อดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขอตัว จ.ส.ต.ณรงค์ศักดิ์ สุดเพชร ผบ.หมู่ กก.5 บก.ปทส.บช.ก. และ ส.ต.ต.อภิวิชญ์ จันฑะเฆ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557
อดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ที่ใครๆต่างก็รู้กิตติศัพท์ ถึงขนาดเมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้ใครเรียกอดีตนายกรัฐมนตรี ให้เรียกนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ยังขอตำรวจเพียงแค่ ด.ต.นิมิต เอี่ยมลออ ผบ.หมู่ กก.1บก.ส.1 ส.ต.ต.วัชรินทร์ วงศ์เล็ก ผบ.หมู่ กก.ปพ.บก.ป.บช.ก. ไปช่วยราชการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2557 และ ส.ต.อ.อนันต์ ศรีวิเชียร ผบ.หมู่ กก.ปพ.บก.ป.บช.ก. ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556
มีเพียงอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์รายเดียวเท่านั้น ที่ขอตำรวจไปรักษาความปลอดภัยถึงระดับ “พ.ต.อ.” เทียบเท่า “ผกก.” คือ ขอตัว พ.ต.อ.วทัญญู ผู้ช่วยนายเวร รอง ผบ.ตร. ไปปฏิบัติหน้าที่อารักขาความปลอดภัยตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2557
และที่สำคัญตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 795/2550 ระบุความหมายของการรักษาความปลอดภัยเอาไว้ว่า หมายถึง การกำหนดแนวทาง แผนและมาตรการต่างๆ เป็นหลักการเพื่อให้อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ้นจากอันตรายทั้งปวง โดยการลดโอกาสและช่องทางในการทำร้ายของบุคคลต่างๆ ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงสถานที่พัก การปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดการ และการประกอบธุรกิจส่วนตัวในที่ต่างๆ
แต่เท่าที่เห็นการปรากฏภาพหลายครั้ง เมื่อพ.ต.อ.วทัญญู ติดตามอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่เพียงแค่การเดินถือกระเป๋า ถือของ และการดูแลความปลอดภัยเท่านั้น รปภ.หนุ่ย ยังทำหน้าที่ช่างภาพส่วนตัว ถ่ายภาพกิจกรรมต่างๆที่อดีตนายกฯเดินไปทางอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งดูจะไม่มีในคำสั่ง สตช.ที่ 795 แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในคำสั่งดังกล่าวข้อ 5 ระยะเวลาของข้าราชการตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สิ้นสุดลงเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
5.1 อดีตผู้บังคับบัญชาเสียชีวิต 5.2 ครบระยะเวลาอนุมัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5.3 ถูกส่งตัวกลับหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกตัวกลับ และ5.4 สถานภาพตำแหน่งของข้าราชการตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไป
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ผบ.ตร.” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีอำนาจเต็มในการเรียกตัวกลับ โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดระยะเวลาการขอตัวไปช่วยราชการ
การที่ “ผบ.ขายฝัน” ยังไม่รีบชี้ขาดและเรียกตัว พ.ต.อ.วทัญญู กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เลือกที่จะให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลตรวจสอบ มองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “อุ้มผกก.หนุ่ย” เพื่อ “ซื้อเวลา” ให้เรื่องเงียบ รวมทั้งจงใจท้าทายมาตรา 157