“สมยศ” ถกคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรตำรวจนัดแรก ย้ำไม่ต่อต้านพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ ปชช. ต้องได้ประโยชน์ - รับฟังเสียงตำรวจ ตั้งโจทย์ ตร. ต้องเป็นอิสระ ปลอดการเมืองแทรก
วันนี้ (27 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางปฏิรูปองค์กรตำรวจ ครั้งที่ 1/2558 โดยมี รองผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ที่ปรึกษา (สบ10) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผบช. หน่วยต่างๆ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมประชุม ขณะที่มี พล.ต.ท.บริหาร เสี่ยงอารมณ์, พล.ต.ท.อาจิน โชติวงศ์ และอดีตนายตำรวจระดับสูงร่วมประชุในฐานะที่ปรึกษา โดยใช้เวลาประชุมร่วม 2 ชั่วโมง
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวก่อนเข้าประชุม ว่า เป็นการประชุมคณะทำงาน เพื่อกำหนดแนวทางในการที่จะปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการปฏิรูปตัวเอง นำเสนอความคิดความต้องการของตำรวจ 230,000 นาย เพื่อที่จะนำข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะคิดและรับฟังจากเพื่อนข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ เพื่อไปตอบคำถาม ร่วมนำเสนอกับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป ตร. ทั้งนี้ การทำงานของคณะทำงานทุกๆ คณะ จะทำให้สอดคล้องกับแนวความคิดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
“ในฐานะ ผบ.ตร. ยืนยันว่าพร้อมน้อมรับ ยินดีที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องให้การเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด และการจะเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปใดๆ ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นตำรวจ มีความรู้ความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ และก็เข้าใจความต้องการของเพื่อนข้าราชการตำรวจทั้งประเทศ โดยจะประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทาง และจะมีคณะทำงานที่จะออกไปรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็จะให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. เปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของเพื่อนข้าราชการตำรวจ ว่าต้องการให้การปฏิรูปในครั้งนี้เป็นไปในทิศทางใด ทาง สปช. มีแนวความคิดเช่นใด ตร. ก็จะพยายามทำให้สอดคล้อง คณะทำงานชุดนี้ไม่มีจุดประสงค์ต่อต้าน เพียงแต่มีกระแสข่าวว่า ผู้บังคับบัญชาในอดีตที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ขณะอยู่ในตำแหน่งไม่เคยมีท่านใดพูดถึงการปฏิรูปองค์กร หรือการปฏิรูป ตร. แต่มักจะไปพูดหลังจากที่เกษียณไปแล้ว ผมขอบอกว่าขอเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนแรกที่อยู่ในตำแหน่ง ที่ยินยอมพร้อมที่จะรับฟังความคิด พร้อมปฏิรูป แต่ขอไว้เพียงสองสิ่งว่า 1. การปฏิรูปใดๆ หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับให้มากที่สุด 2. การจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้รับฟังข้าราชการตำรวจบ้าง เพราะว่าไม่มีใครรู้จักชีวิตหรือการทำงานของตำรวจดีเท่าตำรวจ” ผบ.ตร. กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ท.ประวุฒิ แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปมีเห็นตรงกันว่าลำดับแรกในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ คือ ต้องปลอดจากการเมือง เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาล อัยการ หรือแม้แต่กองทัพ ที่คณะกรรมการที่มีอำนาจด้านการบริหารบุคคล เช่น คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการตุลาการ และสภากลาโหม ที่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย หลักการคือปลอดการเมืองแต่รายละเอียดจะเป็นเช่นไรต้องพิจารณา ในอนาคตคณะกรรมการต่างๆ ที่มีอำนาจพิจารณาบริหารบุคคล เช่น ก.ตร. ควรมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมน้อยที่สุด มีเท่าที่จำเป็นจริงๆ ทั้งนี้ หากระดับบนปลอดการเมือง ก็ปลอดการแทรกแซง การแต่งตั้งแต่ระดับตั้งแต่ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ ไปจนถึงสารวัตรก็จะมีอิสระมากขึ้นสอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจให้กองบัญชาการต่างๆ ขณะเดียวกัน เมื่อต้นธารกระบวนการยุติธรรม สามารถให้ความเป็นธรรม เป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ก็จะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะทำงานไปพิจารณาในรายละเอียด และจะมาหารือร่วมกันในคณะทำงานอีกครั้ง ยืนยันการเมืองท้องถิ่นไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป หากปลอดการเมืองก็จะปลอดอิทธิพลจากการเมืองท้องถิ่นไปด้วย ขณะเดียวกัน คณะทำงานจะไปศึกษางานตำรวจที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อนว่าจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ลักษณะใกล้เคียงไว้หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด
พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ คณะทำงานย่อย ซึ่งมี 6 คณะ ไปศึกษาหาข้อมูลในเชิงประจักษ์ เกี่ยวกับต้นทุนการทำงานที่ตำรวจต้องใช้จริงในการทำงาน ทั้งด้านเวลาการปฏิบัติงานที่เกินเวลางานราชการไปมาก รวมทั้งงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการทำงาน เช่น ค่าน้ำมัน รถสายตรวจที่ต้องใช้จริง ปืน วิทยุ เสื้อเกราะ ที่มีใช้จริง ที่จากการสำรวจล่าสุด มีตำรวจที่ต้องทำงานด้านปฏิบัติ 100,000 นาย แต่มีเสื้อเกราะที่รัฐสนับสนุนเพียง 9,000 ตัวเท่านั้น รวมถึงอัตรากำลังพลจริง ที่ยังขาดแคลนชั้นประทวนถึงร้อยละ 60 โดยที่ประชุมเสนอว่า ตร. จะต้องทำข้อมูลข้อเท็จจริงสภาพการทำงานของตำรวจ ความขาดแคลน การขาดความสมดุลระหว่างปริมาณงานและค่าตอบแทน ตีแผ่ความจริงออกมาเพื่อนำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา และแก้ไขสนับสนุนได้ตรงจุด รวมทั้งให้คณะทำงานซึ่งมีตนเป็นหัวหน้าไปตรวจสอบ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีมุมมองต่อตำรวจอย่างไร อะไรที่สังคมมองว่าตำรวจมีปัญหาหรือไม่พอใจตำรวจ หรือต้องการให้ตำรวจทำอย่างไร เพื่อจะได้นำมาปรับได้ แก้ได้ตรงจุด โดยจะมีการเปิดเวลาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั้งในส่วนกลาง และต่างจังหวัด ทั้งนี้การรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะในการปฏิรูป จะรับฟังข้อมูลจาก 4 ส่วน คือ 1. ประชาชน 2. ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับตำรวจ 3. หน่วยราชการอื่นๆ และ 4. ตำรวจและครอบครัวตำรวจ บางครั้งเราอาจพบว่าปัญหาของตำรวจไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง ไม่จำเป็นต้องแก้ไขโครงสร้างแต่อาจแก้ไขได้ด้วยการบริหาร
โฆษก ตร. กล่าวด้วยว่า ในประเด็นการโอนงานในกับองค์กรภาคท้องถิ่นหรือหน่วยอื่นๆ นั้น ตร. เตรียมความพร้อมในการโอนภารกิจด้านต่างๆมาตลอด พร้อมให้โอนย้ายได้ทันที แต่ต้องถามว่าท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่จะรับไปมีความพร้อมรับไปมากน้อยแค่ไหน ทั้งด้านงบประมาณและศักยภาพในการปฏิบัติงาน หากเอาไปต้องไม่เสียหาย เรายินดีให้ไป ขณะที่ประเด็นที่เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจนั้น คณะทำงานของตร.มองไว้ 3 โมเดล คือ 1. แยกพนักงานสอบสวน 40,000 นาย ออกไปอยู่กับอัยการ ต้องถามว่ารัฐสามารถจ่ายเงินเดือนได้มากเป็นแสนๆ เท่าอัยการหรือไม่ หากไปอยู่ด้วยกัน 2. แยกอิสระไม่ขึ้นกับใครเป็นหน่วยงานด้านสอบสวน ต้องถามว่ามีความพร้อมหรือไม่ เมื่ออิสระจะมีปัญหาในการประสานงานหรือไม่ และ 3. หากอยู่กับตำรวจแล้วสามารถพัฒนา ให้ค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับปริมาณงานพัฒนาด้วยวิธีบริหารให้พนักงานสอบสวนลดปริมาณงานเพิ่มคุณภาพได้หรือไม่ ดีกว่าหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเพียงแนวคิดที่ผบ.ตร.มอบหมายให้คณะทำงานย้อยทุกชุดไปดำเนินงาน ภายใน 1 สัปดาห์ต้องมีความคืบหน้า เริ่มทำงาน และภายใน 30 วันจะคุยกันในคณะทำงานชุดใหญ่