xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.แถลงผลยึดทรัพย์คดี สจล.เบื้องต้น 178 รายการ กว่า 100 ล้าน “บอย-ปกรณ์” โดนด้วยรถหรู 13 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปปง.แถลงผลยึดทรัพย์ “คดี สจล.” เบื้องต้น 178 รายการ กว่า 100 ล้าน “บอย-ปกรณ์” โดนด้วยรถหรู 13 ล้าน ให้โอกาสยื่นหลักฐานชี้แจงใน 30 วัน หากพบได้มาโดยบริสุทธิ์ใจพร้อมคืนให้ ส่วน “พิ้งกี้” รอตรวจหลักฐานได้กำไรจากบริษัทหรือไม่ หากได้ต้องยึดเช่นกัน เผยผู้ต้องหา-ผู้เกี่ยวข้องยังมีซุกซ่อนหรือโอนไปแล้วอีกเพียบ เตรียมขยายผลยึด-อายัดเพิ่มเติม



เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (9 ม.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงผลการยึดและอายัดทรัพย์สิน แก๊งลักทรัพย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 178 รายการ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25-26 ธันวาคม 2557 ปปง.ได้รับการประสานงานจากกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบและวิเคราะห์การทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีที่มีการยักยอกเงินของ สจล. ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 น.ส.วรวรรณ สุวรรณกูฏ ผู้กล่าวหา ได้รับมอบอำนาจจากสจล.ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินคดีกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ ผู้ต้องหาที่ 1 น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 2 และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในความผิดฐาน ลักทรัพย์ ปลอม และใช้เอกสารสิทธิปลอม และเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 265 มาตรา 268 และมาตรา 335 (7) และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4

โดยมีพฤติการณ์ว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 น.ส.อำพรซึ่งเป็นผู้อำนวยการส่วนกองคลัง สจล. ได้ขออนุมัติถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสจล. เลขที่ 507-1-09403-4 จำนวน 50,000,000 บาท และจากบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เลขที่ 028-1-03878-3 จำนวน 30,000,000 บาท รวม 2 บัญชี พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 80,306,666.67 บาท โดยอ้างว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ที่นายทรงกลดเป็นผู้จัดการสาขา ให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า เมื่อถอนเงินมาแล้ว น.ส.อำพรรได้มอบแคชเชียร์เช็คให้นายทรงกลดเป็นผู้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ บัญชีเลขที่ 226-1-26513-9 แล้วถอนไปฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ บัญชีเลขที่ 461-3-08425-1

ต่อมา สจล.ได้ตรวจสอบสมุดบัญชีเงินฝาก และหลักฐานการฝากของทั้งสองบัญชีดังกล่าว พบพิรุธหลายประการ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ประสานงานตรวจสอบกับธนาคาร พบว่าสมุดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ หน้าเล่มชื่อบัญชี “สถาบันเทคโนโลยีฯ” มีร่องรอยการขูดลบ พบข้อมูลที่แท้จริงจากธนาคาร เป็นบัญชีของนายทรงกลด และถูกปิดมานานแล้ว แต่มีการปลอมรายการเคลื่อนไหวในสมุดบัญชี โดยไม่มีการฝากเงินเข้าบัญชีจริง เพื่อใช้สำหรับแสดงเวลาที่มีการตรวจสอบเท่านั้น และสมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ชื่อบัญชี “สถาบันเทคโนโลยีฯ” มีรายการฝากเงินเข้าบัญชีและถูกถอนออกไปทั้งหมด สจล.จึงรู้ตัวว่าเงินที่ น.ส.อำพรขออนุมัติดังกล่าวข้างต้นสูญหายไปจากบัญชี

เมื่อพบปัญหาดังกล่าว สจล.จึงสั่งให้มีการตรวจสอบบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่ พบว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สูญหายไปอีก 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ เลขที่ 461-2-67188-5 บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ เลขที่ 395-1-00787-8 และบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ บัญชีเลขที่ 461-3-13463-2 รวมเป็นเงิน 1,075,037,702 บาท สจล.ได้รับความเสียหายจึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีต่อนายทรงกลด น.ส.อำพร และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เลขาธิการ ปปง.จึงได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำของบุคคลดังกล่าวเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์หรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามลำดับ หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน

และจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 178 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 100 ล้านบาท ดังนี้ 1. เงินฝากธนาคาร 130 รายการ 2. สลากออมสิน 7 รายการ 3. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 30 รายการ 4.ห้องชุด 2 รายการ 5. รถยนต์ 6 รายการ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู ลัมบอร์กินี เป็นต้น 6. จักรยานยนต์ 3 รายการ

และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารและสลากออมสิน อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด ซ่อนเร้น ได้โดยง่าย อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนในการควบคุม การเสียภาษี หรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อ ผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย สำนักงาน ปปง.อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมา เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้

จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว รวมทั้งหากเนิ่นช้ากว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณาอายัดทรัพย์สินในกรณีดังกล่าว ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นเสียได้ จึงเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน

ดังนั้น เลขาธิการ ปปง.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ออกคำสั่งที่ ย.199/2557 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 คำสั่งที่ ย.200/2557 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557 คำสั่งที่ ย.1/2558 ลงวันที่ 5 มกราคม 2558 คำสั่งที่ ย.3/2558 ลงวันที่ 6 มกราคม 2558 คำสั่งที่ ย.4/2558 ลงวันที่ 7 มกราคม 2558 และคำสั่งที่ ย.6/2558 ลงวันที่ 9 มกราคม 2558 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมทรัพย์สินทั้ง 6 คำสั่ง จำนวน 178 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 100 ล้านบาท

ซึ่งเป็นของหรืออยู่ในความครอบครองของ 1. นายทรงกลด ศรีประสงค์ 2. นางสาวอำพร น้อยสัมฤทธิ์ 3.นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด 4. นายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ 5. นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ 6. นายจิรัฏฐ์ ศิริภัครวรกุล 7.นางระดม มัทธุจัด 8. นางสาวจุฑารัตน์ ปัดภัย 9.นายสมศักดิ์ ยอดย้อย 10.นายจิตร แผนดี 11.นางสาวจันทร์จิรา โสประดิษฐ์ 12.นางสมบัติ โสประดิษฐ์ 13.นายเอนก ยั่งเจริญ 14.นางสาวโสมจำรัส แจ่มจำรัส 15.นางสาววันเพ็ญ นิ่มเรือง 16.นายสุกฤษ เขียวนันใจ 17.นายปฐมพงษ์ ศรีโรจน์ 18.นายสมพงษ์ สหพรอุดมการณ์ 19.นายสุรพล ตรงต่อกิจ 20.นางนกคล้า ตรงต่อกิจ 21.นายสนั่น มัทธุจัด 22.บริษัท มัทธุจัด จำกัด 23.บริษัท แกรนด์ บัคเก็ต ยูนิเวอร์แซล เซอร์วิส จำกัด 24.บริษัท แอคติ้งวัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด โดยมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน เพื่อทำการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป

การยึดและอายัดทรัพย์สิน 178 รายการดังกล่าว เป็นเพียงทรัพย์สินบางส่วนเท่านั้น เชื่อว่ายังมีทรัพย์สินที่การซุกซ่อนหรือโอนไปอยู่ในครอบครองของบุคคลอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน ปปง.อยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว และผู้เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลยึด และอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม หากพบว่ามีทรัพย์สินใดที่เชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สำนักงาน ปปง.จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณายึดและอายัดทรัพย์สินนั้นโดยเร็วต่อไป

สำหรับประเด็นที่หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดสำนักงานปปง.จึงออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ทั้งที่มิได้เป็นผู้ต้องหาว่าร่วมกระทำผิดลักทรัพย์ของสจล. ในประเด็นนี้ขอชี้แจงให้ทราบว่า ในการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินเพื่อพิจารณาว่าจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายการใด ของบุคคลใดหรือไม่นั้น หลักการสำคัญประการหนึ่ง คื อต้องพิจารณาว่าทรัพย์สินรายการนั้นเข้าหลักเกณฑ์ของ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามความในมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ คำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด"หมายความว่า (1)เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุน หรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานตาม (8) ของบทนิยามคำว่า"ความผิดมูลฐาน" หรือการกระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วย

(2)เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ

(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)

ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของ บุคคลใด

อย่างไรก็ตามในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ก็มีช่องทางที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยให้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการปปง. พร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่งยึดหรืออายัดจากสำนักงานปปง. โดยคณะกรรมการธุรกรรมจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเพิกถอนการยึดหรืออายัดหรือไม่อย่างไร

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ถูกยึด และอายัดทรัพย์สิน ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน และประชาชนโดยทั่วไปเพื่อทราบว่า การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งเอกสารหรือบันทึก ข้อมูล หรือทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดและอายัดไว้ หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นความผิดทางอาญาและมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้การโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด นั้น ก็เป็นความผิดทางอาญาด้วยเช่นกัน และมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ต.อ. สีหนาท กล่าวว่า ในกรณีของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ดารานักแสดงชื่อดัง ที่ได้ซื้อรถหรูจากนายกิตติศักดิ์ ปปง.ได้มีคำสั่งอายัดออกไปแล้ว รอเพียงให้นายปกรณ์นำรถมามอบให้ ซึ่งหากนายปกรณ์ไม่นำมามอบให้ภายใน 30 วัน ทางสำนักงานปปง.ก็จะขอคำสั่งศาลเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการอายัดรถหรูนั้น เป็นเพราะว่านายกิตติศักดิ์นำเงินที่ได้มาจากการยักยอกทรัพย์โดยตรงจากสจล.มาซื้อรถคันดังกล่าวในราคา 20 ล้าน จากนั้น 2 เดือนต่อมาได้นำมาปล่อยขายให้นายปกรณ์ในราคา 13 ล้าน ซึ่งถือว่าผิดวิสัยเป็นอย่างมาก จึงต้องทำการอายัดรถมาเพื่อตรวจสอบ

"นายปกรณ์สามารถเดินทางเข้ามาชี้แจ้งการได้มาของรถคันดังกล่าวได้ หากทางปปง.ตรวจสอบแล้วว่านายปกรณ์ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็จะสามารถทำเรื่องถอนการอายัดรถแล้วคืนในนายปกรณ์ได้ ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินเบื้องต้นที่สามารถเปิดเผยได้นั้น ขณะนี้ทางปปง.ได้ทำการยึดและอายัดไว้ได้เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะมีมากกว่านี้"

ผู้เสื่อข่าวถามว่า ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังของการทำธุรกรรมทางการเงินของขบวนการดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.อ.สีหนาท ตอบว่า เรื่องการตรวจสอบย้อนหลังนั้นทำอยู่แล้ว ตรวจย้อนหลังไปหลายปีตั้งแต่ยังไม่พบการทุจริต พบว่ามีหลายบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง มีส่วนเชื่อมโยง มีการทำธุรกรรมทางการคเงินตลอดเวลา และใครก็ตามที่พบว่ามีการเกี่ยวข้องในกรณีนี้จะถูกตรวจสอบทั้งหมด ส่วนในกรณีมหาวิทยาลัยอื่นๆที่มีการทุจริตนั้น ทางปปง.ก็เคยตรวจสอบพบมาแล้ว แต่เราจะไม่ย้อนกลับไปตรวจสอบทุกมหาวิทยาลัย จะตรวจสอบแค่ที่ถูกแจ้งมาว่ามีการกระทำความผิดเท่านั้น

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า กรณีของน.ส.สาวิกา ไชยเดช หรือพิงกี้นางเอกสาวนั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปว่าไม่มีความผิดก็เป็นไปตามคดีอาญา แต่สำหรับทางปปง.นั้น หากตรวจสอบได้ว่าพิงกี้ได้ผลประโยชน์หรือผลกำไรจากการถือหุ้นของบริษัท เคพีพี โปรดักชั่น จำกัด ทางปปง.ก็จำเป็นจะต้องยึดทรัพย์นั้น แต่หากไม่ได้รับผลกำไรจากบริษัท ก็ไม่สามารถจะไปดำเนินการยึดทรัพย์ของพิงกี้ได้ เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็อีก1-2 สัปดาห์ ปปง.จะมีการสรุปผลการยึดทรัพย์อีกครั้ง เนื่องจากยังมีบุคคลอีกจำนวนมาก ที่พบว่ามีการเชื่อมโยงกับขบวนการในครั้งนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น