รมว.ยุติธรรม ระบุไทยเป็นฮับด้านยาเสพติด เผยพบเด็ก 7 ขวบเริ่มดมกาว ชี้ผลสุ่มตรวจทหารเกณฑ์ใหม่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ฉี่ม่วง ติงกรมคุมประพฤติล้มเหลวในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยา จี้เร่งแก้ไขหลักสูตรการฟื้นฟูผู้ติดยา
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระบบบังคับบำบัด พร้อมกล่าวถึงแนวโน้มการแก้ปัญหายาเสพติดทั้งระดับโลกและภูมิภาคที่มีปัญหาใหญ่ซึ่งต้องมีการทำอย่างจริงจังทุกระบบ โดยเน้นงานใน 3 ส่วนคือ 1. ด้านการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย 2. การบำบัดฟื้นฟู และ 3. การสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้สถิติในการจับกุมยาเสพติดต่อปีมีการจับยาเสพติดได้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างยาเสพติดจำนวน 100 เม็ด มีเจ้าหน้าที่จับกุมได้เพียง 15 เม็ด หรือ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 85 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจับกุมได้
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นฮับของยาเสพติด ที่มีการระบาดของยาเสพติดสูงสุดในอาเซียน ทั้งที่จริงประเทศไทยต้องเป็นฮับเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจการเงิน ดังนั้นในแง่ของกายภาพจะต้องทำเต็มที่ นอกจากนี้ ในประเทศไทย จากจำนวนประชาชนทั้งหมด เฉลี่ยเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ที่ติดยาเสพติด หรือประมาณ 1.3 ล้านคน โดยจำนวนผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวอยู่เรือนจำ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2-3 แสนคน ส่วนอีกประมาณ 1 ล้านคนนั้นถูกละเลยจากระบบราชการไม่ได้รับการดูแลกว่า 7-8 แสนคน และอีกจำนวน 2-3 แสนคน เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราไม่ได้ต้องการตัวเลขหรือจำนวนของผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการฟื้นฟู แต่เราต้องการคุณภาพ โดยทำอย่างไรไม่ให้ผู้ติดยาเสพติดกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก งบประมาณในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดต่อปีไม่เพียงพอ และการที่จะขับเคลื่อนจำนวนผู้ติดยาเสพติดให้ได้จำนวน 4-5 แสนคนต่อปีนั้น ตนมองว่าจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ทั้งนี้เราควรเน้นเรื่องระบบการป้องกันและบำบัดยาเสพติด โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันด้วย
รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้แนวโน้มอายุคนติดยาเสพติดมีอายุน้อยลง เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) ตนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีเด็กประถม 1-2 อายุประมาณ 7 ขวบเริ่มดมกาวแล้ว และเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับเวทีที่ประเทศสิงคโปร์ว่าแนวโน้มของผู้ติดยาเสพติดจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ การแก้ปัญหาในเรื่องนี้จะเน้นไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการดูแลงบประมาณลงไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการป้องกัน
“การจำคุกไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในเวทีต่างประเทศจะเน้นพูดคุยเรื่องการฟื้นฟูและบำบัด โดยไม่พูดถึงเรื่องโทษจำคุก สำหรับนักโทษจำนวน 2แสนกว่าคนในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอาชญากรรมด้านยาเสพติด ไม่ใช่ตัวการใหญ่ที่ค้ายา เพราะแรงงานเหล่านี้สามารถหาได้ง่ายจับเท่าไหร่ก็ไม่หมด เพราะปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ดังนั้นอยากให้ตำรวจและ ป.ป.ส.กวาดล้างจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ให้หมด” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
สำหรับภารกิจด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดของกรมคุมประพฤตินั้นถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะโครงการระบบการฟื้นฟูของกรมฯนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากศาล ตนได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้รองรับกับกฎหมายใหม่แล้ว นอกจากนี้ต้องมีการคัดแยกกลุ่มฟื้นฟูบำบัดให้ชัดเจน รวมถึงหลักสูตรการบำบัดจะต้องมีการปรับปรุง รวมไปถึงในหน่วยงานจะต้องมีจิตแพทย์และพยาบาล หากทำได้แบบที่สมบูรณ์นี้ ผู้บำบัดจะไม่กลับมาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก โดยในหลักสูตรต้องมี 3 งานหลัก เช่น 1. หลักสูตรชุมชนบำบัด 2.หลักสูตรใช้วันหยุดพูดคุยกับผู้ปกครอง และ 3. หลักสูตรการฝึกงานและจัดหางานรองรับเมื่อบำบัดเสร็จสิ้น
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า หากคนของหน่วยงานไหนไม่ให้ความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดจะสั่งย้ายอย่างแน่นอน และได้รายงานเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรือนจำถือว่าน่าพอใจและจะยังดำเนินการมาตรการป้องกันปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยจะประเมินการทำงานตลอดทุก 3 เดือน 6 เดือน และยังคงเข้มงวดในการตรวจค้นอย่างเต็มที่เพราะมีผลกระทบต่อบ้านเมืองมากมาย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ในปี 2558 จะมีการเสนอให้บำบัดผู้ติดยาเสพติดและคุมประพฤติกว่า 2 แสนคน โดยจะเน้นคุณภาพ ซึ่งหากการบำบัดแล้วผู้ติดยาเสพติดไม่ไปข้องเกี่ยวอีกได้สักประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากนี้มีรายงานจากการสุ่มตรวจฉี่และสอบประวัติทหารเกณฑ์ใหม่พบว่าในบางหน่วยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีทหารเสพยาเสพติด จึงสั่งให้นำหลักสูตรใหม่การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกทหารเกณฑ์ใหม่ด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ได้กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม หารือในประเด็นการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายที่อยู่ต่างประเทศ ทั้งกฎหมายอาญา แพ่งพาณิชย์ หรือเว็บหมิ่นสถาบันที่มีการโพสต์ข้อความในผิดมาตรา 112 ว่าเรื่องนี้มีตำรวจ ทหาร กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม ที่จะประสานงานร่วมมือกัน โดยจะเป็นเรื่องของความมั่นคง รวมถึงการควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการติดตามจับกุมดำเนินคดีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการบังคับใช้กฎหมายในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น บางประเทศก็ไม่มีกฎหมายนี้รองรับ