xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 155 ปี “ฉัฐวัสส์ มุตตามระ” คดียักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซีกว่า 1,014 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลสั่งจำคุก 155 ปี “ฉัฐวัสส์ มุตตามระ” อดีตนักการเมืองกลุ่ม 16 สนับสนุน “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ยักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซีกว่า 1,014 ล้านบาท พร้อมปรับเงิน 31 ล้าน และให้ชดใช้เงินคืนกว่า 732 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นหลักฐานไม่เพียงพอ ให้ยกฟ้อง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ด.6206/2543 ที่อัยการกองคดีเศรษฐกิจ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด หรือบีบีซี (เสียชีวิต), นายเอกชัย อธิคมนันทะ อายุ 65 ปี อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี, นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อายุ 55 ปี อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวิเทศทนกิจ และอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี, นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ อายุ 67 ปี อดีตกรรมการบริษัท สยาม แมสคอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขอกู้สินเชื่อกับบีบีซี, นายมาโนช เชาวรัตน์ อายุ 56 ปี อดีตกรรมการบริษัท สยามแมสฯ, นายฉัฐวัสส์ หรือวีรพล มุตตามระ อายุ 58 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามแมสฯ และอดีตนักการเมืองกลุ่ม 16, บริษัท อเมริกันแสตนดาร์ด แอ๊พเพรซัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างประเมินราคาทรัพย์สิน และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ อายุ 64 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทอเมริกันแสตนดาร์ด (ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต หรือร่วมกันยักยอกทรัพย์, ผู้ใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินได้กระทำผิดต่อหน้าที่ของตนโดยทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 304, 308, 321, 313, 315 และ 334

โจทก์ฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. - 1 มิ.ย. 2537 เวลากลางวัน พวกจำเลยได้บังอาจร่วมกันวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำในการทำหนังสือของบีบีซี ถึงบริษัทสยามแมสฯ เสนอรับเป็นที่ปรึกษาในการซื้อหุ้นที่จะครอบงำกิจการด้านประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 4-8 ร่วมกันขอสินเชื่อจากบีบีซี 570 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นครอบงำกิจการบริษัทประกันภัย โดยพวกจำเลยได้เสนอหุ้นจำนวน 6 ล้านหุ้นพร้อมที่ดิน อ.แม่จัน จ.เชียงราย จำนวน 51 แปลง อ้างราคาประเมินที่ดิน 405,900,000 บาท เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. - 30 พ.ย. 2538 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี ยังได้ทำการอนุมัติสินเชื่อเบิกเกินบัญชีให้กับจำเลยที่ 4-6 จำนวน 655,649,408.07 บาท โดยไม่นำเสนอคณะกรรมกรรสินเชื่อของบีบีซีพิจารณากลั่นกรองก่อน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 1,014,894,086.49 บาท ซึ่งบีบีซีได้รับเงินบางส่วนคืนแล้ว คงเหลืออีกจำนวน 732,982,485.15 บาท จึงขอให้พวกจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวคืนแก่บีบีซีด้วย

โดยในวันนี้จำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8 เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ ขณะที่จำเลยที่ 3 ได้ส่งทนายความขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน เนื่องจากมีอาการป่วย จึงไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ ขณะที่จำเลยที่ 6 ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ส่วนนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 ด้วยโรคมะเร็งในปอด จึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนและเติบโตได้ เมื่อทรัพย์สินที่นำมาฝากคือเงินฝากของประชาชนจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลและออกสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน โดยนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี มีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ จะต้องพิจารณาถึงหลักประกันการชำระหนี้ และประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทสยามแมสฯ จำนวนหลายครั้ง โดยไม่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองจึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทั้งที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าบริษัทสยามแมสฯ มีเงินทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และไม่มีหลักประกันเพิ่มเติม การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการอนุมัติสินเชื่อที่ผิดปกติวิสัยและไม่คำนึงถึงหลักประกันการชำระหนี้ อีกทั้งข้อเท็จจริงบริษัทสยามแมสฯ มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ร่วมจำนวนมาก จำเลยที่ 1 จึงกระทำโดยทุจริต เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและพวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย พยานหลักฐานจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดโดยทุจริตตามฟ้อง

ขณะที่จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีพยานเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี เบิกความยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำงานภายในสำนักงานใหญ่ และในช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ได้นำบัตรผ่านรายการไปคืนให้กับพยานแล้ว เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งน่าเชื่อว่าคำเบิกความเป็นไปตามความจริง การคืนบัตรเกิดขึ้นก่อนที่จะมีนำบัตรไปใช้ครั้งแรก และเชื่อว่าการใช้บัตรดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงที่อยู่ในการครอบครองของจำเลยที่ 1 การที่บัตรอยู่ในการครอบครองของจำเลยที่ 1 และมีการใช้บัตรอนุมัติสินเชื่อกว่า 18 รายการ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้บัตรอนุมัติสินเชื่อ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ส่วนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงได้จากการนำสืบของพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ได้ลงนามใบคำขออนุมัติสินเชื่อเท่านั้น ซึ่งเป็นการลงนามตรวจสอบตามสายงาน โดยไม่พบว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสินเชื่อ และตำแหน่งของจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีอำนาจให้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าว แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ลงนามแต่จำเลยที่ 1 ก็สามารถอนุมัติสินเชื่อเองได้ พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้อง

สำหรับ จำเลยที่ 4-6 ได้ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดและนำสืบต่อต่อสู้ทำนองว่า จำเลยที่6 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสยามแมสฯ ได้ขอร้องจำเลยที่ 4-5 มาเป็นกรรมการบริษัทสยามแมสฯแทนชั่วคราว โดยการติดต่อขอสินเชื่อจำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งพยานโจทก์ก็เบิกความว่าไม่เคยเห็นจำเลยที่ 4-5 มาติดต่อธุระที่บีบีซี นอกจากนี้จำเลยที่ 6 ยังเคยทำบันทึกข้อเท็จจริงถึงบีบีซีและโจทก์ร่วม ขณะที่ยังถูกทวงถามการชำระหนี้ด้วย จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4-5 เป็นกรรมการบริษัทสยามแมสฯแทนชั่วคราวโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ต่อมาจำเลยที่ 4-5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ พยานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4-5 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย แม้จำเลยที่ 6 จะไม่ได้เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยและคำเบิกความของพยานโจทก์สนับสนุนว่า จำเลยที่ 6 เป็นผู้ขอสินเชื่อและได้มีการโอนเงินของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีของจำเลยที่ 6 จำนวนหลายครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้พยานเข้าสืบหักล้างว่าเงินดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไรและนำมาเข้าในบัญชีของตนเองได้อย่างไรจึงมีข้อพิรุธ พยานหลักฐานจึงรับฟังได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 6 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดทำให้โจทก์ร่วมเกิดความเสียหายกว่า 732 ล้านบาท

ส่วนจำเลยที่ 7-8 พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดี เนื่องจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาที่ดินโดยสูงกว่าความเป็นจริงเท่านั้น แต่ไม่มีเงินโอนเข้ามาในบัญชีของจำเลยทั้งสอง และไม่พบพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองได้ค่าตอบแทนอย่างไรบ้าง ซึ่งจำเลยเพียงประเมินที่ดินให้กับผู้ว่าจ้าง พฤติการณ์ยังรับฟังไม่ได้อย่างสนิทใจว่ารู้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 6 ที่นำหลักทรัพย์ไปใช้ขอสินเชื่อ และยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการสนับสนุนการกระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และ 6

พิพากษาว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประกอบ ม.83 , 353 -354 ประกอบ 86 และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 307, 308, 311ประกอบ 315 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงบทหนักสุด จำคุกกระทงละ 5 ปี ปรับกระทงละ 1 ล้านบาท รวมเป็นความผิด 31 กระทง รวมจำคุก 155 ปี ปรับ 31 ล้านบาท แต่โทษให้จำคุกได้สูงสุดไม่เกิน 20 ปีตามกฎหมาย และให้ชดใช้เงินคืนให้กับโจทก์ร่วมจำนวน 732,982,485.17 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 , 3 , 4 , 5 , 7 และ 8 แต่ให้ขังจำเลยที่ 4-5 ไว้ระหว่างอุทธรณ์






กำลังโหลดความคิดเห็น