“สามารถ” เผยผลประกอบการไตรมาส 3 กำไรหายกว่า 12-15% ต่ำสุดของปีนี้ คาดไตรมาส 4 น่าจะฟื้นกลับมาเพราะมีโครงการใหม่ๆ รอดำเนินการเพียบ แต่รายได้รวมทั้งปีน่าจะไม่ถึงที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านบาท แต่โตกว่าปีก่อน 15-20% อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับกำไรที่จะโตขึ้นตามไปด้วย เผยปีหน้าอายุครบ 60 ปี เตรียมเดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Utilities &Transportation ที่จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน และจะเป็นตัวสร้างรายได้หลักที่แน่นอน ไม่ต้องกลัวการขึ้นลงของเศรษฐกิจ
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 กำไรหายไป 12-15% ถือว่าแย่ที่สุดในปีนี้ แต่คาดว่าในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นแต่อาจจะไม่ถึงเป้าหมายรายได้ที่วางไว้ 30,000 ล้านบาท โดยรายได้ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 26,000-27,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่ามีรายได้โตกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ที่ 22,000 ล้านบาท ประมาณ 15-20% ส่วนทางด้านผลกำไรภาพรวมนั้นแม้จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ แต่ผลกำไรก็จะมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน
ทั้งนี้ ในปีหน้ากลุ่มสามารถจะดำเนินธุรกิจครบ 60 ปี สามารถจะปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ และจะมีการลงทุนมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยเฉพาะในกลุ่ม Utilities &Transportation หรือสายธุรกิจสาธารณูปโภคและการเดินทาง ซึ่งจะมีการตั้งธุรกิจใหม่ๆ ที่คาดหวังว่าจะกลายเป็นรายได้หลักของกลุ่มสามารถในอนาคต ไม่ต้องรอรายได้ที่แปรผันไปตามเศรษฐกิจเหมือนในปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่ปีที่ 70 ได้อย่างมั่นคง
“สำหรับยอดรายได้ 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทสามารถ มีรายได้ 18,480 ล้านบาท โตขึ้น 10.21% กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 1,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวของปีก่อนประมาณ 5.02% กำไรสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วไม่ได้ตก โดยรายได้รวมไตรมาส 3 ที่ 5,556 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 351 ล้านบาท”
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า สำหรับสามารถไอ-โมบาย ในภาพรวมรายได้เพิ่มแต่กำไรลดลง 2% รายได้หายไปในไตรมาสนี้ 700 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถผลิตมือถือ 5 แสนเครื่อง ส่งมอบให้ดีแทคทันเวลา จึงต้องนำรายได้มารวมที่ไตรมาส 4 แทน ทำให้ยอดรายได้ไอ-โมบายในไตรมาส 3 ลดลง แต่ก็ยังสามารถขายเครื่องได้เกือบ 1 ล้านเครื่องในไตรมาสนี้ คิดเป็นสมาร์ทโฟนจำนวน 7.5 แสนเครื่อง ส่วนภาพรวมการขายมือถือในปีนี้น่าจะใกล้ๆ 4.5 ล้านเครื่องตามที่ตั้งไว้ เพราะคาดว่าไตรมาส 4 น่าจะทำได้ 1.9 ล้านเครื่อง โดยในไตรมาสนี้สามารถไอ-โมบาย มีรายได้รวม 2,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 152 ล้านบาท และยังมีแผนรุกตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว รวมถึงแถบเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมเกือบ 30 ประเทศ ส่วน MVNO นั้นกำลังอยู่ในระหว่างการทำแผนเสนอบริษัท ทีโอที
ด้านกลุ่ม ICT Solution & Services ก็ตกลงไปบ้างเพราะภาครัฐชะลอตัวลง สถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจส่งผลต่อธุรกิจของกลุ่มสามารถพอสมควร โดยเฉพาะการเลื่อนประมูลโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ กลุ่มสามารถยังได้ติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิตอลที่น่าจะมีการลงทุนทางด้านไอทีเพิ่มขึ้น กลุ่มสามารถน่าจะมีช่องทางในการเข้าไปทำตลาดได้ โดยในไตรมาสที่ 3 กลุ่มนี้มีรายได้รวม 1,579 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากการเลื่อนประมูลโครงการเป็นหลัก
ส่วนกำไรสุทธิ 157 ล้านบาท ลดลงเช่นกัน แต่ในไตรมาสนี้ก็ได้มีการเซ็นสัญญาโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบโทรคมนาคมทหาร และโครงการอื่นๆ มูลค่ารวมกว่า 1,100 ล้านบาท เช่นกัน ดังนั้น เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 มีมูลค่างานในมือ (Backlog) แล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้เซ็นสัญญาการให้บริการและบำรุงรักษาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท รวมปัจจุบันมีมูลค่างานในมือแล้วประมาณ 7.2 พันล้านบาท
สำหรับกลุ่มใหม่คือ Utilities &Transportation น่าจะเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้มากในอนาคต เป็นกลุ่มดูแลพวกสาธารณูปโภค ตอนนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในพม่า และกำลังจะเข้าไปสู่ลาว หลังจากที่มีธุรกิจอยู่แล้วในไทย และเวียดนาม โดยอนาคตจะเป็นการรุกธุรกิจพลังงานเพื่อการเติบโตที่มั่นคง และยั่งยืน โดยล่าสุด ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ให้จัดตั้งบริษัทลูกด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานอย่างเต็มตัว โดยคาดว่าจะสรุปโครงสร้างสายธุรกิจใหม่ได้อย่างชัดเจนภายในเดือนธันวาคมนี้
“Utilities & Transportation ถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ประจำที่แข็งแกร่งให้กลุ่มสามารถมีรายได้รวมประมาณ 570 ล้านบาท จากธุรกิจศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ CATS, โรงไฟฟ้ากัมปอต รวมถึงสามารถ-ยูทรานส์ ที่ล่าสุด ได้งานวิทยุการบินในประเทศไทย 465 ล้านบาท และประเทศพม่า 4 ล้านเหรียญ รวมมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และจากธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงระบบสายส่งต่างๆ ของบริษัท เทด้า ซึ่งปัจจุบันมี Backlog ประมาณ 2 พันล้านบาท”
สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ หรือTechnology Related Businesses มีรายได้รวมประมาณ 780 ล้านบาท โดยมีรายได้จากบริษัท สามารถวิศวกรรม ในการทำตลาดกล่อง และเสารับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการรับแลกคูปองกล่องดิจิตอลทีวีไปแล้วกว่า 300,000 กล่อง และจำหน่ายเสาอากาศไปได้ถึง 400,000 ชุด โดยมีรายรับในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวถึงกว่า 200 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปียอดจำหน่ายน่าจะทะลุ 2 ล้านชุด หรือมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า สำหรับไตรมาส 4 นี้จะเริ่มมองเห็นการเติบโตทั้งจากธุรกิจรับเหมาวางระบบงานไอทีจากสายธุรกิจ ICT ที่รอการประมูลรวมกว่า 9 พันล้านบาท จากโครงการขององค์กรต่างๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานไทย กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการระบบตรวจคัดกรองผู้โดยสาร (APPS) จะสรุปและมีความชัดเจนในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 4 จะมีเป้า Backlog ทะลุ 12,000 ล้านบาท
รวมไปถึงมีความคืบหน้าของโครงการวิทยุการบินที่ประเทศลาว ธุรกิจกล้องวงจรปิดของกรมตำรวจ และที่สนามบินสุวรรณภูมิ และการสรุปโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมของกลุ่มสามารถอีกด้วย
Company Related Link :
SAMART
CyberBiz Social